วุฒิภาวะทาง 'CSR'
นับจนถึงวันนี้ นิยามของ CSR ก็ยังเต็มไปด้วยความหลากหลาย อันเกิดจากการตีความที่ไม่ตรงกัน เกิดจากความพยายามในการกำหนดเนื้อหาเพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่หน่วยงานได้ดำเนินการ หรือเกิดจากบริบทของการดำเนินงานในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมที่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากกรอบคิดในอดีต
บ้างคิดว่ามันคือการทำอะไรสักอย่างให้กับชุมชน บ้างว่ามันคือการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม บ้างว่ามันคือการสร้างภาพลักษณ์อย่างหนึ่ง ประกอบกับยังมีอีกหลายคำถามที่ถูกหยิบยกขึ้นในทำนองว่า ทำไมต้องทำ CSR ทำแล้วได้อะไร ทำแล้วดีอย่างไร แล้วมีมาตรวัดไหนที่บอกว่าทำแล้วดี
แม้หลายองค์กรได้ริเริ่มกระบวนการในการสร้างความรู้ความเข้าใจและการยอมรับในความสำคัญของเรื่อง CSR ที่เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังมีความเลื่อมล้ำในการขับเคลื่อนด้วยวุฒิภาวะ (Maturity) ของแต่ละองค์กรซึ่งมีความแตกต่างกัน โดยเปรียบได้กับ ‘ขบวน’ การขับเคลื่อนที่ประกอบด้วยผู้โดยสารตามแต่ละชั้น ที่แบ่งออกเป็น หัวขบวน กลางขบวน และท้ายขบวน
องค์กรที่อยู่ในกลุ่มหัวขบวนมีการรับรู้และนำไปปฏิบัติได้อย่างชัดเจนต่อเนื่อง ด้านองค์กรที่อยู่ในกลุ่มกลางขบวนก็มีการทำ CSR เช่นกัน แต่อาจจะไม่มากหรือต่อเนื่องเท่ากลุ่มหัวขบวน ส่วนองค์กรที่อยู่ในกลุ่มท้ายขบวนอาจจะรับรู้ถึงผลดีในการทำ CSR หากแต่ยังไม่เห็นความสำคัญมากนัก และอาจจะด้วยปัจจัยในการทำ CSR ที่ต้องอาศัยทรัพยากรในการพัฒนาบุคลากรและระบบ จึงยังไม่สามารถทำได้เต็มที่นัก
ปัจจัยสำคัญในการสร้าง CSR ให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กรได้ ต้องทำผ่านบุคลากร โดยเริ่มต้นจากผู้นำองค์กรคือผู้บริหารและคณะกรรมการ ถ่ายทอดวิสัยทัศน์ให้กับผู้ปฏิบัติ หรือเจ้าหน้าที่ในส่วนต่างๆ ขององค์กรได้ดำเนินตามระบบต่างๆ ขององค์กร จะต้องเน้นให้มีการถ่ายโอนวัฒนธรรมสืบเนื่องเพื่อให้บุคลากรทุกคนในองค์กรมีความรู้ความเข้าใจเรื่อง CSR ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อทุกคนในองค์กรเห็นภาพของ CSR และได้ลงมือปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกันแล้ว ความสำเร็จจากการขับเคลื่อนเรื่อง CSR ก็จะมีเพิ่มมากขึ้น
มาตรการในการส่งเสริมให้เกิดความสำเร็จในการขับเคลื่อน CSR ทั่วทั้งองค์กร ควรต้องคำนึงถึงประเด็นการพัฒนาวุฒิภาวะทาง CSR ของแต่ละองค์กรตามตำแหน่งที่อยู่ของขบวนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยใช้การ ‘Enforce’ กับกลุ่มท้ายขบวนให้มีการทำ CSR อย่างจริงจัง ส่วนกลางขบวนควรใช้วิธี ‘Encourage’ ที่ช่วยผลักดันให้มีการทำ CSR ที่บูรณาการมากยิ่งขึ้น และส่วนหัวขบวนนั้น จะต้องมีการ ‘Enable’ เพื่อเปิดทางให้องค์กรได้มีโอกาสพัฒนาเพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้นำด้าน CSR ทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลก เช่น เวที AEC ได้อย่างเต็มภาคภูมิ
และเมื่อพิจารณาถึงความพร้อมของไทยในการขับเคลื่อนเรื่อง CSR ในระดับภูมิภาค ข้อมูลจากการสำรวจในหลายแหล่ง ชี้ให้เห็นว่าองค์กรธุรกิจไทยมีความสามารถในการขับเคลื่อน CSR ไม่แพ้ประเทศอื่น เช่น ผลการจัดอันดับของ ASIAN Sustainability Rating (ASR) ในปี 2554 ที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 2 รองจากเกาหลีใต้
ในระดับอาเซียนเอง ภาคเอกชนในภาพรวมยังคงมีข้อจำกัดในเรื่องของการรับรู้แนวปฏิบัติ CSR ที่อยู่ภายใต้แผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์เพื่อผลักดันให้ภาคธุรกิจผนวกเอาเรื่อง CSR ไว้ในวาระการดำเนินงานขององค์กร และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจ-สังคมที่ยั่งยืนในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งบทบาทของ CSR ในเสาของ ASCC นั้น ในท้ายที่สุด ก็จะต้องเดินควบคู่ไปกับการพัฒนาธุรกิจและเศรษฐกิจในเสาของ AEC กันอย่างแยกไม่ออก
อีกไม่ถึงสามปี ภาพของการขับเคลื่อน CSR ในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียน อาจจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปจากปัจจุบัน การรั้งตำแหน่งผู้นำแถวหน้าทางธุรกิจในอาเซียน อาจจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่นำเรื่อง CSR เข้ามาอยู่ในสมการธุรกิจ และจัดวางกลยุทธื CSR ให้เป็นตัวแปรสำคัญในการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน นอกเหนือจากตัวแปรอื่นๆ ในทางธุรกิจ
[กรุงเทพธุรกิจ]