Pages

Thursday, December 27, 2012

เทรนด์ธุรกิจ ปี 56 Think SD, Act CSR!


สมมติว่า CSR มีตัวตนเป็นเหมือนบริษัทจำกัดแห่งหนึ่ง ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา บริษัท CSR นี้ได้เจริญเติบโตขึ้นมาก จนกลายเป็นบริษัทมหาชน แผ่ขยายอิทธิพลไป ‘ควบรวม’ กิจการกับบริษัทธุรกิจอื่นๆ ทั้งที่อยู่ในตลาดและนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ แม้กระทั่งรัฐวิสาหกิจ กวาดต้อนเข้ามาเป็นบริษัทในเครือในสังกัดมากมาย

และแล้วก็มีอีกบริษัทที่ชื่อว่า SD ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในวงการไล่หลังบริษัท CSR ไม่นาน ได้รับแรงส่งจากความต้องการของตลาดโลก จนสามารถขยายส่วนแบ่งตลาดออกไปอย่างรวดเร็ว มีอิทธิพลถึงขนาดเข้ามา ‘ครอบงำ’ กิจการทั้งที่อยู่ในเครือและนอกเครือบริษัท CSR ในอัตราที่เร็วไม่แพ้อัตราการเข้าไปควบรวมกิจการของบริษัท CSR

วันนี้ ธุรกิจที่ถูกควบรวมกิจการกับบริษัท CSR และกำลังถูกครอบงำจากบริษัท SD เริ่มมีความสับสนในการรับนโยบายจากทั้งสองบริษัท ขณะที่หลายธุรกิจที่ดำเนินงานโดยใช้กลยุทธ์จากบริษัท CSR มาระยะหนึ่ง มีความคิดที่อยากจะเปลี่ยนไปใช้กลยุทธ์จากบริษัท SD บ้าง ในทางตรงกันข้าม ธุรกิจที่ได้สับเปลี่ยนกลยุทธ์จากบริษัท CSR มาเป็นของบริษัท SD เรียบร้อยแล้ว กลับไม่แน่ใจว่ากลยุทธ์ของบริษัท SD มีความเหมาะสมกับองค์กรจริงหรือไม่

นี่คือ เทรนด์ธุรกิจ ที่จะเกิดขึ้นในปี 56 !

การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development เป็นการพัฒนาที่คำนึงถึงมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ประกอบกันอย่างสมดุล เกิดจากการทำงานของภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ไม่เฉพาะเพียงภาคธุรกิจเอกชน

บทบาทของธุรกิจต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปพร้อมกัน ในอันที่จะช่วยเสริมหนุนการทำงานของภาคส่วนอื่นๆ ในสังคม ให้เกิดเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยรวม

ความคาดหวังที่จะให้ภาคธุรกิจ ดำเนินงานด้านการพัฒนาสังคม หรือ การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแบบเต็มตัว จึงไม่ถืออยู่ในวิสัยแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนของธุรกิจซึ่งมีเป้าประสงค์ในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นหลัก

กลยุทธ์ SD ที่ธุรกิจนำมาใช้ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นการจำกัดความหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้เป็นการประกอบธุรกิจหรือการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากกลยุทธ์ CSR แต่ประการใด

ขณะที่ ‘ความยั่งยืน’ หรือ Sustainability เป็นอีกหนึ่งคำ ที่ภาคธุรกิจหยิบฉวยมาใช้ เพื่อแสดงถึงสถานะของผลการดำเนินงาน ที่สามารถก่อให้เกิดเป็นความยั่งยืนของสังคมโดยรวม หรือความยั่งยืนในระดับองค์กร ตามแต่กลยุทธ์ที่นำมาใช้

ธุรกิจจำนวนหนึ่ง ได้มีการพัฒนากลยุทธ์ความยั่งยืน หรือ Sustainability Strategy ขึ้น เพื่อจัดการกับความสามารถในการรองรับ (Carrying Capacity) ความต้องการทางธุรกิจ หรือการเติบโตทางธุรกิจ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการก็ได้

กลยุทธ์ความยั่งยืนที่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการทางธุรกิจหรือประโยชน์ของผู้ถือหุ้น (Shareholder) ในกรณีนี้ จะมีขอบเขตที่แคบกว่ากลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมที่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองความคาดหวังทางสังคมหรือประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ในวงกว้าง

ด้วยเหตุนี้ การระบุผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ (อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม) สำหรับการดำเนินกลยุทธ์ความยั่งยืนหรือกลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคม จึงถือเป็นบันไดขั้นต้นแห่งความสำเร็จของการสร้างผลได้สูงสุดจากความทุ่มเทขององค์กร อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ระดับของกลยุทธ์ความยั่งยืน ความรับผิดชอบต่อสังคม และการพัฒนาที่ยั่งยืน กับผู้มีส่วนได้เสียภายใต้ขอบเขตองค์กร สังคม และสิ่งแวดล้อม สามารถแสดงดังภาพ

ระดับของกลยุทธ์ความยั่งยืน ความรับผิดชอบต่อสังคม และการพัฒนาที่ยั่งยืน

หากเจาะลึกเทรนด์ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกลยุทธ์ความยั่งยืน ความรับผิดชอบต่อสังคม และการพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับปี 56 จะมีธีมที่น่าสนใจดังนี้

Chief Sustainability Officer
ถือเป็นเรื่องปกติ เมื่อกิจการที่ต้องการจะขับเคลื่อนเรื่องใหม่ๆ ซึ่งมีนัยสำคัญต่อองค์กร จะทำการมอบหมายตำแหน่งหรือตั้งบุคคลให้รับผิดชอบเรื่องความยั่งยืนเป็นการเฉพาะ ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืน หรือ Chief Sustainability Officer จะถือกำเนิดขึ้นในองค์กร

ในปี 2556 กระแสเรื่องความยั่งยืนจะผลักดันให้หลายธุรกิจดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับกับเทรนด์ธุรกิจดังกล่าว จากเดิมธุรกิจที่มีหรือที่กำลังจะพิจารณาจัดตั้งคณะทำงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือฝ่ายความรับผิดชอบต่อสังคม หรือแผนกกิจกรรมเพื่อสังคม ฯลฯ อาจมีการปรับเปลี่ยนชื่อ ควบรวม โยกย้าย บุคลากรและตำแหน่งหน้าที่ในส่วนนี้ เพื่อรับกับแนวโน้มที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี หากเป้าหมายของกิจการที่ต้องการบรรลุคือการสร้างความยั่งยืนให้แก่องค์กรเป็นหลัก ขอบข่ายของการทำงานและกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน อาจไม่มีความแตกต่างจากกลยุทธ์ทางธุรกิจปกติ และอาจไม่ครอบคลุมการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่องค์กรได้เคยทำไว้แต่เดิม

Integrated CSR Reporting
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เหล่าบริษัทจดทะเบียนและกิจการขนาดใหญ่ในประเทศไทย ได้ริเริ่มจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainability Report) เผยแพร่ให้แก่สังคมและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องของกิจการ แยกเป็นเล่มต่างหากจากรายงานประจำปี

จากการสำรวจของสถาบันไทยพัฒน์ ในกลุ่มบริษัทที่มีการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน หรือรายงานด้าน CSR เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 พบว่า ร้อยละ 27 ได้มีการจัดทำโดยแยกเล่มรายงาน และร้อยละ 73 มีการจัดทำรวมไว้ในรายงานประจำปี

โดยสัดส่วนของกลุ่มบริษัทที่มีการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน หรือรายงานด้าน CSR เมื่อเทียบกับบริษัทที่ทำการสำรวจทั้งหมดซึ่งมีความสนใจที่จะจัดทำรายงานดังกล่าว พบว่า มีถึงร้อยละ 42 ที่ยังไม่เคยจัดทำรายงานด้าน CSR มาก่อน

ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีแนวคิดที่จะให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมเพื่อสังคม นโยบายและการดำเนินการของบริษัทที่แสดงว่าได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค และการดำเนินการของบริษัทกรณีที่มีประเด็นดังกล่าวซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ หรือมีข้อพิพาททางกฎหมาย ไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (filing) แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) และรายงานประจำปี (แบบ 56-2) โดยระยะเวลาและข้อมูลที่เปิดเผยจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป

ทำให้คาดได้ว่า ในปี 2556 จะมีกิจการหลายแห่งที่ยังไม่เคยจัดทำรายงานด้าน CSR โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียน ริเริ่มและเตรียมจัดทำรายงานด้าน CSR รวมไว้ในรายงานประจำปีเพิ่มมากขึ้น

New SD Agenda
จากผลการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (UNCSD) หรือที่เรียกว่า Rio+20 ณ นครริโอ เดอ จาเนโร สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล เมื่อเดือนมิถุนายน 2555 ทำให้เกิดกรอบการทำงานเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนฉบับใหม่ ภายใต้เอกสารผลลัพธ์การประชุม ความหนา 53 หน้า ที่มีชื่อว่า “The Future We Want” ซึ่งได้รับการเห็นชอบจากชาติสมาชิก 193 ประเทศ

สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีกสองปีนับจากนี้ คือ การเปลี่ยนผ่านเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ หรือ Millennium Development Goals (MDGs) ซึ่งจะสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 2015 ไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs)

สหประชาชาติได้บรรจุเรื่องสิทธิมนุษยชน (Human Rights) ความเสมอภาค (Equality) และความยั่งยืน (Sustainability) ไว้เป็นหลักการพื้นฐานสำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน หลังจากปี ค.ศ. 2015

ในปี 2556 กิจการที่ใช้เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SD Framework เป็นกรอบในการขับเคลื่อนธุรกิจ จะเริ่มมีการปรับวาระการดำเนินงานขององค์กรให้เข้ากับวาระการพัฒนาหลังจากปี ค.ศ. 2015 (Post-2015 Development Agenda) และจะมีการปรับกระบวนการทางธุรกิจให้สอดรับกับหลักสิทธิมนุษยชน และหลักความเสมอภาค นอกเหนือจากหลักการความยั่งยืนที่ดำเนินอยู่

สำหรับธุรกิจทั่วไป ที่ยังมิได้เข้าสู่สนามการแข่งขันในระดับโลก หรือในระดับภูมิภาค กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนฉบับใหม่ สามารถนำมาใช้เป็นแนวคิดสำหรับการวางกลยุทธ์การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในภาคปฏิบัติขององค์กรได้ ดังวลีที่ว่า Think SD, Act CSR!


[หน้าต่าง CSR]

No comments:

Post a Comment