Pages

Monday, December 31, 2012

เชิงลึกกับ CSR DAY (เฟส 4)

ฌานสิทธิ์ ยอดพฤติการณ์

นับตั้งแต่ปี 2552 ที่โครงการ CSR DAY ถือกำเนิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ภายใต้การดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสถาบันไทยพัฒน์ โดยการสนับสนุนของ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และ บมจ. บางจากปิโตรเลียม ได้จัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ CSR ในสถานประกอบการให้กับทั้งบริษัทจดทะเบียนและบริษัทที่มิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แล้วเป็นจำนวนกว่า 300 ครั้ง โดยมียอดผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นมากกว่า 12,000 คน

กิจกรรม CSR DAY ในเฟส 1 (ปี 2552) เป็นการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการทำ CSR และการเพิ่มช่องทางการมีส่วนร่วมในกิจกรรม CSR ของพนักงาน ตั้งแต่การสำรวจกิจกรรม CSR ในระดับบุคคล การนำเสนอกิจกรรม CSR ระดับองค์กร และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ที่นำไปสู่การสร้างความผูกพันร่วมในหมู่พนักงาน (Employee Engagement) ซึ่งเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนงาน CSR ให้เกิดผลสำเร็จ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร

โดยสถานประกอบการหลายแห่งได้นำข้อเสนอกิจกรรม CSR ที่เกิดขึ้นในโครงการ CSR DAY ไปพัฒนาต่อยอดเป็นกิจกรรม CSR ขององค์กร

ในเฟส 2 (ปี 2553) ได้ขยายกิจกรรมในโครงการ CSR DAY ให้ครอบคลุมกลุ่มผู้บริหารระดับสูงและกรรมการบริษัท ภายใต้ชื่อ CSR DAY for Directors Program ด้วยการออกแบบเนื้อหาที่มุ่งเน้นความเข้าใจในหลักการและขอบเขตของ CSR การวางนโยบาย CSR ให้สอดคล้องกับลักษณะของกิจการ และแนวปฏิบัติ CSR ที่เหมาะสมกับองค์กร โดยชี้ให้เห็นถึงกระบวนวิธีที่เรียกว่า Triple Streamline (Principles-Policies-Practices) ซึ่งถือเป็น Pathway to Triple Bottom Line (People-Profit-Planet) ที่สำคัญในการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน

ขณะเดียวกันกิจกรรม CSR DAY Program ในกลุ่มของพนักงานในเฟส 2 นี้ ได้มีการเพิ่มเติมเนื้อหาใหม่ที่กล่าวถึงแนวทางการมีส่วนร่วมของพนักงานในการปฏิบัติงานตามมาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000 ด้วย

ส่วนในเฟส 3 (ปี 2554) ได้มีการพัฒนาเนื้อหาของ CSR DAY Program แยกเป็น 3 หลักสูตร คือ หลักสูตร CSR Engagement ที่มุ่งเน้นการให้ความรู้ CSR เบื้องต้นที่ถูกต้องและการมีส่วนร่วมใน CSR กับองค์กร หลักสูตร CSR Report มุ่งเน้นที่การจัดทำรายงานและการเพิ่มคุณค่าการรายงานตามกรอบ GRI และหลักสูตร ISO 26000 ที่ให้แนวการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมทั่วทั้งองค์กรตามมาตรฐานสากล

สำหรับ CSR DAY ในเฟส 4 สำหรับรอบปี 2555-2556 นอกจากกิจกรรมที่ออกแบบไว้สำหรับพนักงานและผู้บริหารทั้ง 2 ระดับที่ต่อเนื่องมาจากทั้ง 3 เฟสแล้ว จะเป็นการต่อยอดจากการอบรมเชิงปฏิบัติการ สู่การเข้าให้คำปรึกษาเชิงลึกในสถานประกอบการเพื่อการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน ให้แก่บริษัทจดทะเบียนที่ผ่านการอบรมในหลักสูตรการเขียนรายงานด้าน CSR ในปี 2555 จำนวน 20 บริษัท และจะเปิดรับบริษัทจดทะเบียนที่สนใจซึ่งได้เคยเข้าร่วมกิจกรรมในโครงการ CSR DAY มาแล้วเพิ่มเติมอีก 20 บริษัทในต้นปี 2556 เพื่อให้องค์กรสามารถริเริ่มจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนฉบับแรก ตามกรอบการรายงานสากลของ Global Reporting Initiative (GRI) ฉบับ 3.1

การเข้าให้คำปรึกษาเชิงลึกในสถานประกอบการเพื่อการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน ผ่านทาง CSR DAY Coaching Program นี้ จะครอบคลุมการเรียนรู้วิธีการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน ความเข้าใจในกรอบการรายงานสากลของ GRI ความเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมายขององค์กรและประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน แนวทางการเลือกตัวบ่งชี้การดำเนินงานที่เหมาะสมกับองค์กร แนวทางการรวบรวมข้อมูลเพื่อการรายงาน การตรวจสอบบริบทความยั่งยืน (Sustainability Context) การตรวจสอบความสมบูรณ์ (Completeness) ของข้อมูล และการประเมินระดับของการรายงาน โดยใช้ทีมที่ปรึกษาที่ได้รับการอบรมและรับรองจาก GRI

บริษัทจดทะเบียนและองค์กรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ CSR DAY เฟส 4 สามารถสำรองวันจัดกิจกรรม หรือรับคำปรึกษาได้ที่สถาบันไทยพัฒน์ หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.csrday.com


[ประชาชาติธุรกิจ]

No comments:

Post a Comment