สัปดาห์ที่แล้ว (28-29 พ.ย.) คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งออสเตรเลีย (AHRC) ได้ร่วมกันจัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ (CSR) ณ ประเทศสิงคโปร์ โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศออสเตรเลียทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ราว 40 ท่าน
ผมได้มีโอกาสเดินทางมาเข้าร่วมประชุมในฐานะผู้ประสานงานระดับชาติที่ทำงานสนับสนุนทีมศึกษาเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจและสิทธิมนุษยชนในอาเซียน 10 ประเทศ และได้นำเสนอข้อมูลในช่วงกรณีศึกษากลไกการตรวจสอบและบังคับใช้รวมถึงการเข้าถึงการเยียวยาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิมนุษยชนให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมด้วย
ในที่ประชุม ได้มีการแนะนำหลักการแนวทางของสหประชาชาติต่อกรอบ “คุ้มครอง-เคารพ-เยียวยา” สำหรับการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจ ที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) ได้ให้การรับรองไปเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2554 และประเทศไทยได้ให้การสนับสนุนและร่วมอุปถัมภ์ข้อมติดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้ไทยต้องนำหลักการแนวทางดังกล่าวมาพิจารณาดำเนินการกำหนดนโยบาย มาตรการ และแนวทางการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนของทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และรัฐวิสาหกิจในประเทศไทย
ช่วงต่อมาเป็นการประมวลความเคลื่อนไหวเรื่องการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน โดยได้นำผลการวิจัยขนาดย่อมที่ทำในโครงการ UN Global Compact LEAD program เรื่องภูมิศาสตร์ใหม่ว่าด้วยความยั่งยืนขององค์กร มานำเสนอในสองมุมมอง คือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ และลักษณะของการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจในแต่ละประเทศสมาชิก
การพัฒนาชุมชนเป็นเรื่องหลักที่ภาคธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนใช้แสดงถึงบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคม ขณะที่ภาครัฐยังไม่สามารถตกผลึกหนทางในการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมได้อย่างถ่องแท้ อย่างไรก็ตาม เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมสามารถใช้เป็นเครื่องมือขยายการรวมกลุ่มประเทศอาเซียนสู่ความเป็นประชาคมที่สำคัญ
สำหรับนัยของการขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน ประการแรก คือ การลดช่องว่างของการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมระหว่างองค์กรธุรกิจที่เป็นผู้นำและผู้ตาม ทั้งระดับภายในประเทศและระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันเอง ประการที่สอง คือ การให้ความรู้และการสร้างความเข้าใจในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมนอกภาคธุรกิจ (รัฐ ประชาสังคม สื่อ ฯลฯ) และประการที่สาม คือ การแปลงวาระความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจในอาเซียนให้เป็นรูปเป็นร่างในทางปฏิบัติ
ในการประชุมเต็มคณะ (Plenary Session) ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 ช่วง เป็นการถกกันในหัวข้อความท้าทายของ CSR ในอาเซียนกับผลกระทบต่อสตรี การยกระดับการรับรู้และความเข้าใจเรื่อง CSR การสร้างข้อผูกพันร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ และการพัฒนากลยุทธ์ระดับภูมิภาคที่เกี่ยวกับประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคม
สำหรับหัวข้อหลังนี้ ถือเป็นประเด็น CSR ข้ามชาติ (Transnational Issues) ที่มีการกล่าวถึงปัญหาและผลกระทบเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น โครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีในประเทศลาว โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายในประเทศพม่า หรือ โครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในประเทศเวียดนาม ซึ่งมีสถาบันการเงิน บริษัทเอกชน และรัฐวิสาหกิจไทยเกี่ยวข้อง
CSR ในบริบทการขับเคลื่อนของภาคธุรกิจที่ก้าวเข้าสู่เวทีระดับภูมิภาคในวันนี้ จึงมิใช่เรื่องการลูบหน้าปะจมูกทำความดีแบบ charity-based ให้สังคมในบ้านเห็น แล้วก็ออกไปหาประโยชน์ใส่ตัวด้วยการลิดรอนสิทธิของคนในสังคมนอกบ้าน
แต่ CSR สามารถใช้เป็นเครื่องมือทำความดีแบบ rights-based ที่จะช่วยเสริมสร้างความสำเร็จของธุรกิจนอกบ้านด้วยการยอมรับจากสังคมทั้งในและนอกประเทศควบคู่กันไปได้
[Original Link]
No comments:
Post a Comment