การขับเคลื่อนเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) ในปัจจุบัน มีแนวทางที่หลากหลายตามกรอบคิดของผู้เสนอแนะในแต่ละสำนัก แนวคิดหนึ่งที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ คือ การบริหารเชิงกลยุทธ์ (Strategic Management) ซึ่งใช้การกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนที่ชัดเจน ใช้การระบุแนวทางการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์อย่างเป็นระบบ โดยมีวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ ตัวชี้วัดการดำเนินงาน การระบุกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง และการแปลงกลยุทธ์สู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม
การบริหาร CSR เชิงกลยุทธ์ ที่ประมวลจากแนวคิดดังกล่าว สามารถจำแนกได้เป็น 6 ประการ คือ 1)วิสัยทัศน์ 2)วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ 3)ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลัก 4)กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสีย 5)ความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมและวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ 6)การลงมือปฏิบัติ โดยอธิบายได้ดังนี้
ประการที่ 1 วิสัยทัศน์ คือ ข้อความที่สะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์ในการดำเนินงานของกิจการ แม้องค์กรจะได้ดำเนินงานโดยคำนึงถึงผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว แต่พึงระลึกว่า สำหรับบุคคลหรือหน่วยงานภายนอก อาจมิได้ล่วงรู้เจตนารมณ์ขององค์กรดีเท่ากับผู้ที่อยู่ในองค์กร การที่บุคคลหรือหน่วยงานภายนอก จะพิจารณาว่า องค์กรได้ให้ความสำคัญในเรื่อง CSR มากน้อยเพียงใด จำต้องอาศัยจากข้อมูลเอกสารที่ปรากฏเผยแพร่ ฉะนั้นการแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์อย่างเป็นรูปธรรมทางหนึ่ง ก็คือ การระบุในข้อความที่เป็นวิสัยทัศน์และพันธกิจขององค์กร
ประการที่ 2 วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ คือ สิ่งซึ่งเกี่ยวเนื่องกับสถานภาพของกิจการที่องค์กรจำเป็นจะต้องบรรลุ และมีนัยสำคัญเหนือวัตถุประสงค์ในการปฏิบัติงานที่เป็นปกติประจำวัน องค์กรจำต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมที่สามารถบูรณาการเข้ากับการดำเนินงานทางธุรกิจ โดยให้ความสำคัญกับความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ไม่เฉพาะแต่ผู้ถือหุ้น หรือลูกค้า เพื่อสร้างให้เกิดการยอมรับของสังคมในวงกว้าง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความยั่งยืนของกิจการ
ประการที่ 3 ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลัก คือ เกณฑ์ที่บ่งบอกถึงสิ่งซึ่งส่งผลกระทบสูงต่อผลการดำเนินงานที่ต้องดำเนินการ ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานที่ดี ควรจะต้องเป็นตัวชี้วัดที่สมเหตุสมผล (Valid) มีผลใช้ได้ แม้เวลาผ่านไป สามารถให้ข้อมูลที่ชัดเจน (Informative) ไม่ซับซ้อน และไม่ยากต่อการทำความเข้าใจ สามารถวัดได้จริง (Practical) มีความเหมาะสมกับองค์กร ไม่ใช้ต้นทุนการวัดที่สูงเกินไป เป็นที่น่าเชื่อถือ (Credible) พร้อมต่อการตรวจสอบและพิสูจน์ และไว้วางใจได้ (Reliable) บิดเบือนยาก มีความคงเส้นคงวาสูง
ประการที่ 4 การพิจารณากิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสีย คือ การทบทวนกิจกรรมที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันว่ามีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และตัวชี้วัดผลการดำเนินงานมากน้อยเพียงใด องค์กรไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินกิจกรรม CSR กับผู้มีส่วนได้เสียในทุกกลุ่มพร้อมกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกิจ ขนาดของกิจการ และความพร้อมขององค์กร การทดสอบสารัตถภาพด้วยการใช้เกณฑ์ “ความเกี่ยวเนื่อง-ความมีนัยสำคัญ” จะช่วยองค์กรในการระบุกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลืองสูญเปล่าไปกับกิจกรรมที่สังคมเองก็มิได้รับประโยชน์หรือคุณค่าอย่างเต็มที่
ประการที่ 5 การตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมและวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ คือ การเฟ้นหาหรือยกระดับกิจกรรมที่องค์กรดำเนินอยู่ในปัจจุบันให้สามารถสนองตอบต่อวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ เพื่อให้ได้มาซึ่งประสิทธิภาพในการดำเนินกิจกรรม CSR ซึ่งหมายรวมถึง การพิจารณายุบหรือควบรวมกิจกรรม CSR ที่มีความซ้ำซ้อน และมุ่งตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ในข้อใดข้อหนึ่งจนมีปริมาณมากเกิน กลายเป็นภาระหรือเป็นอุปสรรคต่อการบริหารดูแล ทั้งนี้ การคัดกรอง ยุบ ควบรวม หรือยกระดับกิจกรรม ควรพิจารณาถึงความสำคัญของวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ซึ่งมีค่าน้ำหนักที่มากน้อยต่างกันด้วย
ประการที่ 6 การลงมือปฏิบัติ สำหรับกิจกรรมที่เป็นงานในกระบวนการธุรกิจ หรือที่เข้าข่าย CSR-in-process องค์กรสามารถขับเคลื่อนกิจกรรมดังกล่าวผ่านทางสายงานที่รับผิดชอบ ภายใต้โครงสร้างหรือผังองค์กรที่เป็นปัจจุบันโดยปราศจากการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม หรือไม่ต้องใช้เงินเพิ่ม ส่วนการลงมือปฏิบัติสำหรับกิจกรรมซึ่งอยู่นอกกระบวนการธุรกิจ หรือที่เข้าข่าย CSR-after-process องค์กรอาจต้องตั้งเป็นโครงการเฉพาะกิจ อาจต้องดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานอื่น หรืออาจต้องมอบหมายให้หน่วยงานภายนอกดำเนินการให้ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในการดำเนินงาน การขับเคลื่อนกิจกรรมดังกล่าว องค์กรควรคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของพนักงาน และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่เริ่มดำเนินงาน เพื่อเพิ่มโอกาสความสำเร็จในกิจกรรม
การบริหาร CSR เชิงกลยุทธ์ทั้ง 6 ประการข้างต้น เป็นขั้นตอนหรือกระบวนการที่มีพลวัต ที่ควรมีการทวนสอบเพื่อให้แน่ใจว่า การขับเคลื่อนเรื่อง CSR ให้ผลที่ตรงกับเป้าประสงค์และสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์กรอยู่ตลอดเวลา
[หน้าต่าง CSR]
No comments:
Post a Comment