6 ทิศทาง CSR ปี 56
ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในช่วงต้นปีของทุกปี ที่สถาบันไทยพัฒน์จะได้ทำการประเมินทิศทางความรับผิดชอบต่อสังคมและแนวโน้มด้านความยั่งยืน หรือ CSR & Sustainability ประจำปี ซึ่งในปีนี้ ก็ได้ทำหน้าที่เข้าสู่ขวบปีที่ 7 แล้ว
โดยในปีนี้ การขับเคลื่อนเรื่อง CSR ขององค์กรธุรกิจไทย โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนและกิจการขนาดใหญ่ จะได้รับอิทธิพลจากกรอบการพัฒนาที่ยั่งยืน อันเป็นผลจากการประชุม Rio+20 เมื่อกลางปีที่แล้ว ซึ่งได้ทำให้เกิดกรอบการทำงานเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนฉบับใหม่ ภายใต้เอกสารผลลัพธ์การประชุม ความหนา 53 หน้า ที่มีชื่อว่า “The Future We Want” โดยได้รับการเห็นชอบจากชาติสมาชิก 193 ประเทศ มีสาระสำคัญหลายเรื่อง อาทิ การรับรองกรอบการทำงานระยะ 10 ปี ว่าด้วยแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (Sustainable Consumption and Production) และการผลักดันภาคธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนและกิจการขนาดใหญ่ ให้มีการรายงานข้อมูลความยั่งยืนของกิจการ (Corporate Sustainability Reporting)
สำหรับทิศทางและแนวโน้ม CSR & Sustainability ในปี 2556 มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
1. Chief Sustainability Officer
ในปีนี้ กระแสเรื่องความยั่งยืนจะผลักดันให้หลายธุรกิจดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับกับเทรนด์ธุรกิจดังกล่าว จากเดิมธุรกิจที่มีหรือที่กำลังจะพิจารณาจัดตั้งคณะทำงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือฝ่ายความรับผิดชอบต่อสังคม หรือแผนกกิจกรรมเพื่อสังคม ฯลฯ อาจมีการปรับเปลี่ยนชื่อ ควบรวม โยกย้าย บุคลากรและตำแหน่งหน้าที่ในส่วนนี้ เพื่อรับกับแนวโน้มที่เกิดขึ้น
2. Integrated CSR Reporting
ปีนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อยู่ระหว่างเตรียมออกประกาศเพื่อให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้าน CSR ไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี และรายงานประจำปี ในส่วนที่เป็นนโยบายและการดำเนินการของบริษัทที่แสดงว่าได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค และการดำเนินการของบริษัทกรณีที่มีประเด็นดังกล่าวซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ หรือมีข้อพิพาททางกฎหมาย ทำให้คาดได้ว่า จะมีกิจการหลายแห่งที่ยังไม่เคยจัดทำรายงานด้าน CSR โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียน ริเริ่มและเตรียมจัดทำรายงานด้าน CSR รวมไว้ในรายงานประจำปีเพิ่มมากขึ้น
3. New SD Agenda
นับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป กิจการที่ใช้เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SD Framework เป็นกรอบในการขับเคลื่อนธุรกิจ จะเริ่มมีการปรับวาระการดำเนินงานขององค์กรให้เข้ากับวาระการพัฒนาหลังจากปี ค.ศ. 2015 (Post-2015 Development Agenda) และจะมีการปรับกระบวนการทางธุรกิจให้สอดรับกับหลักสิทธิมนุษยชน หลักความเสมอภาค และหลักการความยั่งยืน ที่สหประชาชาติได้บรรจุไว้เป็นหลักการพื้นฐานสำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน หลังจากปี ค.ศ. 2015 นอกเหนือจากการเปลี่ยนผ่านเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ หรือ Millennium Development Goals (MDGs) ซึ่งจะสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 2015 ไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs)
4. Green Living
ในปีนี้ หลายธุรกิจ จะขยายบทบาทจากผู้นำในกระบวนการผลิตภายใต้กระแสสีเขียว มาเป็นผู้นำการรณรงค์ในกลุ่มผู้บริโภค เพื่อส่งเสริมแบบแผนการบริโภคที่ยั่งยืน ด้วยแนวคิด Green Living ชูผลิตภัณฑ์ที่อนุรักษ์โลก ประหยัดพลังงาน ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับวิถีธรรมชาติ ฯลฯ นอกจากการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในฝั่งอุปทาน ตามกรอบการทำงานระยะ 10 ปี ว่าด้วยแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (Sustainable Consumption and Production) อันเป็นผลจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน
5. CSR Mission for Growth
ในปีนี้ องค์กรธุรกิจไทยขนาดใหญ่หลายแห่ง ได้กำหนดวิสัยทัศน์ที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในภูมิภาค ไม่ต่างจากกิจการขนาดใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้านด้วยกัน จึงทำให้เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมถูกใช้เป็นเงื่อนไขสำคัญในการใช้ยกระดับขีดความสามารถของกิจการ เพื่อให้เกิดการยอมรับจากสังคมของประเทศสมาชิก เช่น การบริหารความสัมพันธ์กับชุมชนท้องถิ่นที่ธุรกิจมีการย้ายฐานการผลิตไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน หรือการบริหารความต่อเนื่องในห่วงโซ่ธุรกิจ โดยอาศัยมาตรฐานเรื่องแรงงาน เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องโลจิสติกส์ ฯลฯ กับคู่ค้าในประเทศเพื่อนบ้าน
6. Social Cliff
ประเทศไทย มิได้มีปัญหาทางเศรษฐกิจ จนถึงกับต้องเผชิญวิกฤติหน้าผาทางการคลัง (Fiscal Cliff) เช่นในประเทศสหรัฐอเมริกา หรือมิได้มีปัญหาเรื่องหนี้สาธารณะ จนต้องใช้มาตรการรัดเข็มขัด เหมือนกับหลายประเทศในสหภาพยุโรป แต่ประเด็นความท้าทายที่มีต่อประเทศอย่างใหญ่หลวงในขณะนี้ คือ ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น และความแตกแยกทางสังคมที่มีความรุนแรงในระดับชาติ หากองค์กรในภาคส่วนต่างๆ ยังเพิกเฉย ไม่ตระหนักถึงความเร่งด่วนในการแก้ปัญหา และไม่ร่วมกันฟื้นความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมอย่างจริงจัง ประเทศไทยจะเผชิญกับหน้าผาทางสังคม (Social Cliff) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
[ประชาชาติธุรกิจ]