Pages

Friday, February 15, 2013

ทิศทาง CSR เกี่ยวอะไรกับ “การพัฒนาที่ยั่งยืน”

สุวัฒน์ ทองธนากุล

การแถลงประจำปีเรื่อง ทิศทาง CSR & Sustainability ปี 2556 เมื่อเร็วๆ นี้ มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ

โดยเฉพาะนี่เป็นปีที่ 2 แล้ว ที่ชื่องานการประเมินแนวโน้มเรื่อง ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR) ได้เพิ่มคำสำคัญ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Sustainability) ซึ่งเป็นเป้าหมายหรือผลลัพธ์สำหรับองค์กรที่มี CSR เนื่องจากดำเนินกิจการด้วยความ “เก่งและดี” นั่นเอง

บดินทร์ อูนากูล รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกรรมการ สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) กล่าวว่า กระแสของการพัฒนาที่ยั่งยืน ผลักดันให้ทุกภาคส่วนของสังคม หันมาสนใจดำเนินงานที่คำนึงถึงผลที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างมีความเชื่อมโยงกัน จนกลายเป็นทิศทางหลักของโลก ที่นานาประเทศให้ความเห็นชอบร่วมกันในการใช้เป็นกรอบการพัฒนาทั้งในระดับองค์กรจนถึงระดับประเทศ

ปัจจุบัน ผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ก็สนใจความยั่งยืนเพื่อลดความเสี่ยง จึงให้ความสำคัญในการเลือกซื้อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินกิจการด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้หลักธรรมาภิบาลมากขึ้น และมีการจัดทำรายงานเปิดเผยข้อมูลตามหลักสากล GRI เพราะให้ข้อมูลที่ชัดเจนและถูกต้องเกี่ยวกับกลยุทธ์และการดำเนินงานเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน

ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงมีแนวคิดที่จะจัดทำข้อมูลดัชนีความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน ตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET Sustainability Index หรือ SET SI) เพื่อใช้เป็นกลไกในการส่งเสริมและปรับแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทจดทะเบียน ให้เข้าสู่ทิศทางที่เกื้อหนุนให้เกิดความยั่งยืนของกิจการและการพัฒนาที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผ้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ได้เผยผลการศึกษาการขับเคลื่อนเรื่อง CSR ขององค์กรธุรกิจไทย โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนและกิจการขนาดใหญ่ จะได้รับอิทธิพลจากผลการประชุมของสหประชาชาติ ว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (UNCSD) หรือการประชุม Rio+20 เมื่อกลางปีที่แล้ว ซึ่งมีการเสนอให้เปลี่ยนกรอบคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยการคำนึงถึงเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จากแบบแยกเป็น 3 เสา แยกส่วนกัน โดยปรับมาเป็น 3 มิติที่ต้องสัมพันธ์กันเพื่อการพัฒนา นับจากปี 2558 เป็นต้นไป

CSR ของภาคธุรกิจ ที่เกื้อหนุนให้เกิดความยั่งยืนของกิจการและการพัฒนาที่ยั่งยืน ปัจจุบันจึงนับเป็นยุค 2.0 ซึ่งมีหลักที่สำคัญคือ การ ‘เปิดเผย’ และ ‘เปิดกว้าง’ เพื่อตอบโจทย์ความคาดหวังของสังคมในแบบ 360° คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียอย่างรอบด้าน โดยหนึ่งในรูปธรรมที่เกิดขึ้น คือ การผลักดันภาคธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนและกิจการขนาดใหญ่ ให้มีการจัดทำรายงานข้อมูลความยั่งยืนของกิจการ (Corporate Sustainability Reporting)

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจยังได้ริเริ่มแนวทางในการประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงชุมชนในระดับฐานราก หรือที่เรียกว่า “ธุรกิจที่ไม่ปิดกั้น” (Inclusive Business) เช่น การสร้างงานแก่คนในท้องถิ่นที่มีรายได้น้อย การมอบโอกาสให้แก่สมาชิกชุมชนในการเป็นผู้ส่งมอบ ผู้จัดจำหน่าย ผู้ค้าปลีก ผู้ให้บริการในห่วงโซ่ธุรกิจ และการพัฒนาและส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการตามกำลังซื้อของผู้บริโภคในระดับฐานราก ให้สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต

ส่วน วรัชญา ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต.สนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนดำเนินธุรกิจภายใต้หลัก CSR เพื่อนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนและเพื่อเป็นแบบอย่างแก่ภาคเอกชนและธุรกิจอื่นต่อไป สอดคล้องกับความต้องการของผู้ลงทุนทั่วโลกที่ปัจจุบันมีแนวโน้มให้น้ำหนักการลงทุนในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจภายใต้หลัก CSR มากขึ้น

“เพื่อเป็นการผลักดันให้เห็นความสำคัญกับ CSR ยิ่งขึ้น ก.ล.ต. เตรียมออกประกาศเพื่อให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้าน CSR ไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) และรายงานประจำปี ส่วนบริษัทที่จะออกและเสนอขายหลักทรัพย์ใหม่ ก็ให้เปิดเผยข้อมูลไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบ 69-1)”

“ข้อมูลเหล่านี้จะสะท้อนว่าบริษัทมีนโยบายการดำเนินงานที่คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมแล้วหรือไม่ อย่างไร ซึ่งจะเป็นไปตามเอกสารแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (พ.ศ. 2555) ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดทำขึ้น ทั้งนี้ การเปิดเผยข้อมูลนี้จะทำให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลสำคัญที่ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนมากขึ้น ขณะที่บริษัทจดทะเบียนก็จะได้สอบทานตัวเองว่าได้ดำเนินการเรื่อง CSR ตรงกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กรแล้วหรือไม่ ประกาศนี้คาดว่าจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 เป็นต้นไป” วรัชญา กล่าว

ข้อคิด
คำว่า “ความยั่งยืน” หรือ Sustainability ที่มีการกล่าวอ้างอิงมากขึ้นในวงการต่างๆ นั้น ก็มีคำถามน่าคิดว่า จะให้ใครยั่งยืน องค์กร ชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อม

ขณะที่แนวทางหลักการ CSR ซึ่งเป็นกระบวนการ “ทำดี” ขององค์กร ย่อมมุ่งหวังก่อให้เกิดความยั่งยืนของธุรกิจการค้าและองค์กร เป็นเป้าหมาย

ความคิดแบบเก่าของผู้บริหารองค์กรที่มุ่งความเป็นเลิศประเภทยอดขายสูงสุด การครองตลาดสูงสุด และกำไรสูงสุด เพื่อหวังกอบโกยให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะใช้วิชามารเอาเปรียบผู้บริโภค ไม่ซื่อสัตย์ต่อผู้ถือหุ้น คือ ที่ขาดคุณธรรม ขาดจริยธรรม

เมื่อโลกพัฒนาไปในทิศทางที่เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารช่วยให้สังคมได้รับรู้ เรียนรู้ และตรวจสอบได้ ผู้ประกอบการในโลกยุคใหม่จึงมีการปรับความคิดและปรับกระบวนการดำเนินงานสู่แนวทางที่ “ต้อง” มีความรับผิดชอบต่อสังคมที่เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม

ภาพเชิงซ้อนจึงเกิดขึ้น เมื่อพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainability Development) ซึ่งเป็นกระบวนการสู่เป้าหมาย “ความยั่งยืน” โดยมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) เป็นแก่นแท้ หรือ DNA ขององค์กรที่ดี เพราะมุ่งดำเนินการเพื่อให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และคุณธรรม โดยไม่สร้างผลกระทบเชิงลบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ได้แก่ ผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า และชุมชนที่อยู่รอบอาคารหรือโรงงาน

เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้เกี่ยวข้องทุกกลุ่มย่อมอยากคบ อยากค้า อยากสนับสนุน

การมี CSR คือการพัฒนาเพื่อสร้างผลดีต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งวงใน วงแคบ และวงกว้าง รวมถึงการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดี จึงเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งตัวองค์กร และผู้เกี่ยวข้องทุกด้าน


[Original Link]

No comments:

Post a Comment