ปัจจุบัน เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) ได้ถูกหยิบยกขึ้นเป็นวาระการดำเนินงานที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปว่าการดำเนินธุรกิจซึ่งมีเป้าหมายในการมุ่งแสวงหากำไรและความมั่งคั่งให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของกิจการ
การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมตามมาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม (ISO26000) มีเป้าหมายยอดสุดอยู่ที่การสร้างผลได้สูงสุดในความทุ่มเทขององค์กร อันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีการสื่อสารเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักของการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร
แนวทางการสื่อสารเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมที่สำคัญ คือ การรายงานข้อมูล CSR ให้แก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง โดยที่ตัวรายงานสามารถจัดทำในรูปแบบที่เป็นรายงานฉบับแยกต่างหาก หรือจัดทำเป็นส่วนหนึ่งในรายงานประจำปีขององค์กร ขึ้นอยู่กับลักษณะของกิจการและความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย
ในหลายประเทศ ได้มีการผลักดันบริษัทจดทะเบียนและกิจการขนาดใหญ่ ให้จัดทำรายงานความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งการออกเป็นข้อกำหนด และให้เป็นไปโดยสมัครใจ โดยประเทศที่มีการออกเป็นกฎเกณฑ์ให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทต่อสาธารณะ ได้แก่ ฝรั่งเศส อังกฤษ ชิลี มาเลเซีย เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก แอฟริกาใต้ ปากีสถาน สเปน อินเดีย เป็นต้น
การรายงานข้อมูล CSR ที่ดี ควรคำนึงถึงปัจจัย 3 ประการ ที่ช่วยสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นกับตัวรายงาน ได้แก่ ขอบเขต (Scope) ของข้อมูลที่จะรายงาน ความครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder Inclusiveness) และสารัตถภาพ (Materiality) ของเนื้อหา
ในประเด็นเรื่องขอบเขตของข้อมูลที่จะรายงาน กิจการควรรายงานข้อมูลด้านความรับผิดชอบต่อสังคมตามหัวข้อที่อ้างอิงอยู่ในมาตรฐานหรือแนวปฏิบัติที่เป็นสากล เช่น ISO 26000, UN Global Compact, GRI หรือแนวทางอันเป็นที่ยอมรับในประเทศนั้นๆ ซึ่งมักจะมีหัวข้อครอบคลุมในเรื่องต่างๆ ที่ประกอบด้วย การกำกับดูแลกิจการที่ดี การประกอบกิจการด้วยความเป็นธรรม การต่อต้านการทุจริต การเคารพสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค การร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม การจัดการสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมและการเผยแพร่นวัตกรรมจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม
ในประเด็นเรื่องความครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสีย กิจการควรให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสีย โดยคำนึงถึงความแตกต่างและความครอบคลุมตามลักษณะและประเภทของธุรกิจ ผู้มีส่วนได้เสียของกิจการเป็นได้ทั้งปัจเจกหรือกลุ่มบุคคลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร เช่น พนักงาน หรือเจ้าของกิจการ และมิได้เป็นส่วนหนึ่งในองค์กร แต่มีความสนใจต่อการดำเนินงานขององค์กร (Interest Parties) หรือได้รับผลจากการดำเนินงานขององค์กร (Affected Parties) เช่น ลูกค้า คู่ค้า ชุมชนรอบถิ่นที่ตั้งสถานประกอบการ รวมทั้งผู้ที่ไม่สามารถแสดงตนหรือจัดตั้งกลุ่มเพื่อสะท้อนความต้องการของตน เช่น ผู้ด้อยโอกาส ชนรุ่นหลัง สัตว์ป่า ฯลฯ ซึ่งอาจถูกมองข้ามหรือละเลยจากการสำรวจของกิจการ
ในประเด็นเรื่องสารัตถภาพของเนื้อหาที่นำมารายงาน กิจการควรคำนึงถึงเรื่องที่เกี่ยวเนื่อง (Relevant) ซึ่งส่งผลกระทบกับขีดความสามารถของกิจการต่อการสร้างคุณค่าทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว พร้อมกันกับการพิจารณาเรื่องที่มีนัยสำคัญ (Significant) ต่อขนาดของผลกระทบที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งสามารถส่งผลให้องค์กรเกิดการเปลี่ยนแปลง และเป็นเรื่องที่ถูกให้ลำดับความสำคัญ (Prioritization) ภายใต้เงื่อนไขการกำกับดูแลกิจการของบริษัทและความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง
เนื้อหาที่นำมาเรียบเรียงไว้ในรายงาน ควรเป็นข้อมูลประเภทที่แสดงถึงผลลัพธ์หรือผลกระทบในภาพรวมจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการในแต่ละหัวข้อที่เห็นชัดและวัดได้ ไม่ควรนำเสนอข้อมูลที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อยของกิจกรรมและโครงการ หรือวิธีการและผลการดำเนินงานที่แยกเป็นรายกิจกรรมหรือรายโครงการ
และที่สำคัญ กิจการควรตระหนักว่าสิ่งที่มีนัยสำคัญซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อองค์กรอย่างใหญ่หลวง คือ การหลีกเลี่ยงหรือละเว้นที่จะรายงานข้อมูลตามที่เป็นจริง หรือพยายามตกแต่งข้อมูล ปรับตัวเลข หน่วยวัด การนำเสนอกราฟิก อันทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง
หวังว่าแนวทางการรายงานข้อมูล CSR ที่กล่าวมาข้างต้น คงจะเป็นประโยชน์สำหรับการเตรียมตัวในการจัดทำข้อมูล CSR ขององค์กร สำหรับการเปิดเผยต่อสาธารณชนในรายงานประจำปี หรือรายงานด้าน CSR ได้ไม่มากก็น้อย
[กรุงเทพธุรกิจ]
No comments:
Post a Comment