Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ทำ CSR เพื่อความยั่งยืน (ของใคร)

รุ่งทิพย์ เพ็ญพันธุ์

ต้องยอมรับว่าในปีนี้ บริษัทน้อยใหญ่ต่างให้ความสำคัญในเรื่องการวางแผนการดำเนินงานด้าน “ความรับผิดชอบต่อสังคม” และ “ความยั่งยืน” อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมมากขึ้นในอีกระดับหนึ่ง

เหตุผลหนึ่งในนั้น ก็สืบเนื่องมาจากการที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนไทย จัดทำรายงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า CSR Report ในรูปแบบของการเปิดเผยข้อมูลด้านความรับผิดชอบต่อสังคมแบบบูรณาการเป็นปีแรก ทำให้ในหลายองค์กรต้องกลับมาทบทวนนิยามของความรับผิดชอบต่อสังคมเชิงบูรณาการ และบริบทของความยั่งยืนให้ถ่องแท้มากขึ้น

องค์กรหลายแห่งที่มีการดำเนินงานด้าน CSR มาระยะหนึ่งแล้ว อาจต้องการยกระดับแผนงานองค์กรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนมากขึ้น แต่มีองค์กรน้อยราย ที่ทราบถึงเจตจำนงและที่มาของคำว่าความยั่งยืน รวมทั้งขอบเขตในฐานคิดดั้งเดิมของความยั่งยืน ที่องค์กรหลายแห่ง ยังมีความสับสนว่าเป็นความยั่งยืนขององค์กร หรือความยั่งยืนของสังคม ตลอดจนเหตุผลที่ผลักดันให้องค์กรต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมภายใต้บริบทของความยั่งยืน

หากจะกล่าวถึงที่มาของเรื่องความยั่งยืน และความรับผิดชอบต่อสังคม ในบริบทสากลทั้งหมดตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน อาจจะสามารถเขียนเป็นหนังสือเล่มโตได้เลยทีเดียว ในที่นี้ จะขอยกมาเฉพาะส่วนที่ควรรู้โดยทั่วไป สำหรับผู้ที่เริ่มก้าวเข้าสู่วงการ เพื่อเป็นการทบทวนปูมหลังให้เกิดความเชื่อมโยงกับแนวคิดเรื่องความยั่งยืนกันอีกคำรบหนึ่ง

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2530 เรื่องความยั่งยืน และการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ได้ถูกให้คำจำกัดความจากรายงานบรุนด์แลนด์ (Brundtland Report) ที่ได้รับการตีพิมพ์ในเอกสารชื่อ Our Common Future โดย World Commission on Environment and Development (WCED) เอาไว้ว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น การพัฒนาที่สามารถตอบสนองความต้องการในปัจจุบัน โดยไม่ลดทอนความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการของคนรุ่นต่อ ๆ ไปในอนาคต”

คำจำกัดความนี้ได้ถูกหยิบยกขึ้นอ้างอิงเรื่อยมา ทั้งในข้อตกลงแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Global Compact เมื่อปี พ.ศ.2543 ในมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ ISO 26000 ที่ประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ.2553 และในแนวทางการรายงานของ Global Reporting Initiative (GRI) ที่ถูกใช้เป็นมาตรฐานตามความนิยม (de facto standard) สำหรับการรายงานแห่งความยั่งยืนกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

หัวใจของ “ความยั่งยืน” ที่แท้จริง อาจกล่าวได้อย่างสั้น ๆ ว่า คือ การคำนึงถึง “อนาคต” เป็นสำคัญ ทั้งในแง่ของการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ไม่สิ้นเปลือง เพื่อรักษาความยั่งยืนหรือสมดุลระหว่างทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ กับความต้องการของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น การบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด พร้อมกับการรักษาขีดความสามารถในการพัฒนาสู่ความเจริญก้าวหน้าทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมโดยรวม

ขณะที่ภาคธุรกิจมีความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติทั้งทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อนำมาเป็นปัจจัยการผลิต ภาคประชาชนเองก็มีความต้องการใช้สอยสินค้าและบริการต่างๆ เป็นปัจจัยการบริโภคเพื่อการดำรงชีพและความกินดีอยู่ดีของชีวิต

วัฏจักรนี้กำลังดำเนินไปในทิศทางที่มีการใช้สอยทั้งปัจจัยการผลิตและปัจจัยการบริโภคในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหากวันหนึ่งข้างหน้า ความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการมีอันต้องหยุดชะงักลง อันเนื่องมาจากต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติที่ร่อยหรอและเริ่มไม่เพียงพอ นั่นหมายถึง ความเป็นอยู่ที่ดีของมวลมนุษยชาติ (Human Well-Being) รวมทั้งสิ่งมีชีวิตอื่นที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันระหว่าง คน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจทั้งระบบก็ต้องพลอยล่มสลายลงตามไปด้วย

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การดำเนินงานขององค์กรไม่ว่าขนาดใหญ่หรือเล็ก ล้วนสร้างให้กิด “ผลกระทบ” กับสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จึงไม่น่าแปลกใจว่า ในระยะหลังได้มีการให้ความสำคัญถึงผลการดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น นอกเหนือจากการมุ่งเน้นที่ผลประกอบการขององค์กรในทางเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว

การระลึกถึงคำจำกัดความของความยั่งยืนข้างต้น น่าจะทำให้องค์กรหลายแห่งที่กำลังขับเคลื่อนเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและเรื่องความยั่งยืน ได้คำตอบว่า ผลกระทบสุดท้ายของการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม อันนำไปสู่ความยั่งยืนนั้น ควรไปตกอยู่ที่องค์กร หรือกับสังคมโดยรวม

ทั้งนี้ การพิจารณาบริบทของความยั่งยืนในแง่มุมที่คำนึงถึงประโยชน์ที่ตกอยู่กับองค์กรเพียงหน่วยเดียว โดยขาดการคำนึงถึงหน่วยอื่น ๆ ของสังคม อาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจนนำไปสู่การวางแผนงานในอนาคตที่ผิดพลาด

ดังนั้น การทบทวนความเข้าใจถึงเหตุและผลของประเด็นความยั่งยืน จะช่วยให้องค์กรสามารถริเริ่มการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมภายใต้บริบทของความยั่งยืนอย่างถูกทิศทาง และนำไปสู่การพัฒนาสังคมและการดูแลสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง


[ประชาชาติธุรกิจ]