Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

นวัตกรรม CSR ระฟ้า

ถลัชนันท์ อารีย์สกุล

ในเอกสารมาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000 ได้ระบุหัวข้อการเข้าถึงบริการที่จำเป็น ไว้เป็นหนึ่งในประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมด้านผู้บริโภค ซึ่งกล่าวว่า แม้ภาครัฐจะเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบต่อสิทธิของประชาชนในการได้รับการตอบสนองต่อความจำเป็นขั้นพื้นฐาน สิทธิของประชาชนเหล่านั้นในหลายพื้นที่และในหลายกรณี ก็ยังมิได้รับการพิทักษ์ดูแลอย่างทั่วถึง เช่น บริการด้านสาธารณูปโภค และบริการโทรคมนาคมพื้นฐาน ด้วยเหตุนี้ ภาคเอกชน จึงสามารถดำรงบทบาทในการช่วยเหลือเติมเต็มซึ่งสิทธิเหล่านั้น สอดคล้องกับแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคของสหประชาชาติ หรือ UN Guidelines for Consumer Protection (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2542)

ข้อแนะนำในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เรื่องหนึ่งที่ปรากฏในเอกสารเข็มทิศธุรกิจเพื่อสังคม (พ.ศ.2551) ที่จัดทำโดยคณะทำงานส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัทจดทะเบียน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และเอกสารแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (พ.ศ.2555) โดยคณะทำงานจัดทำและเผยแพร่ Guidelines for Social Responsibility ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คือ นวัตกรรมและการเผยแพร่นวัตกรรมจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเป็นการนำความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์การดำเนินงานด้าน CSR มาพัฒนาปรับใช้และคิดค้นให้เกิดนวัตกรรมทางธุรกิจ ที่สามารถสร้างประโยชน์ ขีดความสามารถทางการแข่งขัน และมูลค่าเพิ่ม ทั้งต่อธุรกิจและสังคมไปพร้อมๆ กัน

ในประเทศไทย โครงการ CSR ที่เกี่ยวกับบริการโทรคมนาคมพื้นฐานส่วนใหญ่ จะเป็นการจัดตั้งศูนย์อินเทอร์เน็ตในโรงเรียน และศูนย์อินเทอร์เน็ตในชุมชน ซึ่งดำเนินการไปตามโจทย์ของหน่วยงานกำกับดูแล คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า USO หรือ Universal Service Obligation

ขณะที่ในต่างประเทศ โครงการ CSR ที่เกี่ยวกับบริการโทรคมนาคมพื้นฐาน นอกจากการคำนึงถึงการลงทุนในพื้นที่ชนบทห่างไกลและขาดแคลนบริการ หรือมีแต่ไม่ทั่วถึงแล้ว ยังได้คิดค้นนวัตกรรมและการพัฒนาแนวคิดใหม่ๆ ใส่ลงไปในโครงการด้วย ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือ โครงการ Balloon-Powered Internet for Everyone ที่ริเริ่มโดยบริษัท กูเกิล โดยใช้การปล่อยบอลลูนที่ติดตั้งอุปกรณ์รับส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ต ใช้แหล่งพลังงานจากแสงอาทิตย์ ลอยขึ้นไปบนท้องฟ้าที่ระดับความสูง 20 กิโลเมตร (ชั้นสตราโตสเฟียร์) เหนือเส้นทางการบินพาณิชย์อยู่สองเท่า เพื่อปล่อยสัญญาณอินเทอร์เน็ตครอบคลุมพื้นที่ในรัศมี 40 กิโลเมตรด้วยความเร็วเทียบเท่า 3G โดยใช้ความถี่ในย่านเดียวกับ Wi-Fi


Project Loon นี้ เริ่มต้นปล่อยบอลลูนล็อตแรกจำนวน 30 ลูก บริเวณเกาะใต้ของประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2556 เพื่อทำการทดสอบเทคโนโลยีการรับสัญญาณภาคพื้นที่เมืองไคร้สเชิร์ชและแคนเทอร์เบอร์รี่ โดยกูเกิลคาดหวังว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โครงการดังกล่าวจะช่วยให้ประชาชนในอีกครึ่งค่อนโลก สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

โครงการ CSR ที่เกี่ยวกับบริการโทรคมนาคมพื้นฐาน สำหรับพื้นที่ชนบทห่างไกล หรือพื้นที่ที่มีผลตอบแทนการลงทุนต่ำ มิได้หมายถึงเพียง การบริจาคเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้แล้ว การปลดระวางอุปกรณ์เครือข่ายรุ่นเก่า ไปยังชุมชนหรือโรงเรียนที่ยังไม่มีใช้ หรือติดภาพว่า โครงการ CSR ต้องเกี่ยวกับการจัดหาของมือสองให้แต่เพียงถ่ายเดียวเสมอไป

การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดังที่บริษัท กูเกิล ริเริ่ม ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการออกแบบและพัฒนาโครงการ CSR ซึ่งผู้ประกอบการโทรคมนาคมในไทย ควรจะต้องฉีกกรอบคิดการทำโครงการ CSR ในแบบที่เป็นอยู่ หรือยึดติดกับโจทย์ที่กำหนดโดยหน่วยงานกำกับดูแล หันมาคิดค้นให้เกิดเป็นนวัตกรรมทางธุรกิจ ที่สามารถสร้างประโยชน์ ขีดความสามารถทางการแข่งขัน และมูลค่าเพิ่ม ทั้งต่อธุรกิจและสังคมไปพร้อมๆ กัน


[ประชาชาติธุรกิจ]