สัปดาห์ก่อน ผมเดินทางไปร่วมงานประชุม International CSR Summit 2013 ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจัดโดย Singapore Compact ผู้ที่ริเริ่มและร่วมก่อตั้ง ASEAN CSR Network ซึ่งพี่ไทยเราก็เป็นหนึ่งใน 5 ประเทศผู้ร่วมก่อตั้ง โดยมี CSR Club ในสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย เป็นกรรมการเครือข่ายในนามตัวแทนประเทศไทย
เรื่องน่าสนใจที่อยากนำเสนอในบทความนี้ ไม่ใช่เนื้อหาเรื่อง CSR ที่พูดคุยกันอยู่บนเวทีการประชุม แต่เป็นเรื่องที่ผมได้มีโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนนอกเวทีต่อการขับเคลื่อน CSR ในภาคเอกชนของสิงคโปร์ ซึ่งมีนัยหลายอย่าง บ่งชี้ให้เห็นว่า เรายังต้องทำงานอีกมาก หากต้องการยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันภายใต้กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยอาศัย CSR เป็นเครื่องมือ
สภาธุรกิจสิงคโปร์ ซึ่งได้รับสถานะจากทางการในฐานะตัวแทนภาคเอกชนในการทำงานร่วมกับภาครัฐ คล้ายคลึงกับสภาหอฯ หรือสภาอุตฯ บ้านเรา มีหน่วยงานที่ทำงานพัฒนาศักยภาพเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ในการสนทนากับผู้บริหารของสภาธุรกิจสิงคโปร์ เขาเล่าให้ฟังว่า แต่ละปีจะมีกิจกรรมร่วมๆ 300 กิจกรรม โดยมีโจทย์ที่จะผลักดันภาคเอกชนให้อยู่ใน Value Chain ของตลาดโลก ในบทบาท Integrator
จะเห็นว่า สิงคโปร์รู้และใช้จุดแข็งในบทบาท Trader ที่มีมาแต่ในอดีต จากที่ตนเองไม่ได้เป็นแหล่งการผลิตหรือมีนิคมอุตสาหกรรมใหญ่โต พื้นที่ประเทศก็ไม่ได้มากหรือมีทรัพยากรทางธรรมชาติเหลือเฟือ ในวันนี้ กำลังผันตนเองมาเป็น Integrator ที่ใช้เรื่องความยั่งยืนในห่วงโซ่ธุรกิจโลก เป็นจุดขาย ในทัศนะของสภาธุรกิจสิงคโปร์ มองว่าความยั่งยืนไม่ได้เป็นกระแสที่มาแล้วก็ไป แต่ให้ความสำคัญถึงขนาดเป็นตัวแปรแห่งความอยู่รอดของธุรกิจ หากภาคเอกชนไม่ปรับตัวรับกับกระแสการพัฒนาที่ยั่งยืนที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้
ที่ผ่านมา กระแสโลกาภิวัตน์ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายทุน ฐานการผลิต ไปยังแหล่งที่มีต้นทุนแรงงานต่ำ หรือใกล้แหล่งวัตถุดิบ ขณะที่ กระแสความยั่งยืนจะทำให้เกิดการเปลี่ยนผู้ส่งมอบในสายอุปทาน ไปยังผู้ที่สามารถใช้พลังงานทดแทน มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนในองค์กร หรือมีรายงานแห่งความยั่งยืนเปิดเผยต่อสาธารณชน
หันกลับมามองประเทศไทย ผมไม่ทราบว่า สภาหอฯ และสภาอุตฯ ในฐานะภาคเอกชนที่มีบทบาทเทียบเท่าสภาธุรกิจสิงคโปร์ ได้มีหน่วยงานภายในอย่าง Sustainable Development Capacity Building Division เช่นที่มีในสภาธุรกิจสิงคโปร์ กำลังทำงานทางด้านนี้อยู่หรือไม่ หรือมีโจทย์ที่ชัดเจนในการนำภาคเอกชนเตรียมพร้อมรองรับกระแสการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้อย่างไร
ถ้าจะมาล้วงลับในระดับองค์กร ก็ยิ่งน่าตกใจ เพราะขณะที่องค์กรธุรกิจบ้านเรา กำลังภาคภูมิใจกับการที่ได้ทำความเข้าใจแล้วว่า CSR ไม่ใช่เพียงเรื่องการบริจาค หรือการอาสาสมัคร แต่จะต้องพัฒนา CSR ในกระบวนการธุรกิจให้เป็นที่ยอมรับของสังคม และชุมชนที่อยู่รายรอบแหล่งดำเนินงาน เพื่อให้ได้รับซึ่ง ‘License to operate’ นั้น องค์กรธุรกิจในสิงคโปร์ กำลังตั้งโจทย์การพัฒนา CSR ในกระบวนการธุรกิจ สนองตอบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้ได้มาซึ่ง ‘Global Operating License’ แล้ว
ในบ้านเรา องค์กรธุรกิจหลายแห่ง ยังมัวยุ่งอยู่กับการตั้งคณะกรรมการหรือส่วนงาน CSR ขึ้นในองค์กร แล้วก็มีคำถามตามมาว่า จะเอาไว้ภายใต้ฝ่ายไหนดี หรือจะมีใครควรเข้ามาเป็นคณะทำงานบ้าง ยิ่งในบางองค์กร พอมีเรื่อง SD หรือ Sustainability เข้ามา เลยตั้งเป็นสองคณะเลย แล้วก็ต้องมาตอบคำถามต่อว่า บทบาทของทั้งสองคณะนั้นแตกต่างกัน ทำงานเชื่อมประสานกันได้อย่างไร ทำไปทำมา แทนที่จะใช้เวลาในการขับเคลื่อนงาน CSR อย่างเต็มที่ กลับต้องมาติดกับดักเรื่องโครงสร้าง พาลทำให้คนที่ได้รับมอบหมาย ไม่สามารถทำงานสอดประสานกันได้อย่างที่ควรจะเป็น
ในเวทีเวิร์คช็อป ‘Building a Culture of Innovation and Sustainability’ ที่ผมได้เข้าร่วมและสังเกตการณ์ วิทยากรจาก UNIDO ผู้ที่เข้าไปทำ CSR Roadmap ให้กับภาคเอกชนในเวียดนาม ชวนผู้เข้าร่วมคุยเรื่องการฝัง DNA นวัตกรรมทาง CSR ที่นำไปสู่ความยั่งยืน ให้ได้ทั่วทั้งองค์กร พร้อมฉายภาพให้เห็นว่า องค์กรไม่ควรจะมอง CSR เป็นส่วนงาน หรือเป็นหนึ่ง Silo ในโครงสร้างผังองค์กร แต่ควรจะหลอมรวมเรื่อง CSR เข้าเป็นส่วนหนึ่งใน DNA ขององค์กร
ตัววัดความสำเร็จของ CSR จากเดิมที่เป็นการวัดปริมาณกิจกรรม รูปธรรมของการทำ CSR หรือการมีโครงสร้างหน่วยงานที่ชัดเจน คงจะต้องเปลี่ยนเป็น การไม่รู้ว่ามีกิจกรรมอะไรบ้างที่เป็น CSR การไม่ได้ทำ CSR อย่างเป็นรูปธรรม หรือ การไม่มีโครงสร้างหน่วยงานที่ชัดเจน สำหรับใช้เป็น KPI แห่งความสำเร็จแทน
สำหรับการขับเคลื่อนในระดับเครือข่าย สามารถนำบทเรียนในระดับองค์กรมาใช้ โดยไม่จำเป็นต้องมุ่งเน้นการตั้งหน่วยงานใหม่ หรือคณะกรรมการอื่นใดเพิ่มเติม โจทย์อยู่ที่การผลักดันให้องค์กรระดับเครือข่ายที่มีในปัจจุบัน หลอมรวมเรื่องการขับเคลื่อน CSR ไว้ในวาระงานขององค์กร โดยอาศัยคณะกรรมการ หรือคณะทำงานที่มีอยู่ในแต่ละแห่ง เป็นกลไกในการขับเคลื่อน
ส่วนข้อที่อ้างว่า จะไม่เกิดการบูรณาการงาน CSR เพื่อรองรับการขับเคลื่อนในระดับประเทศนั้น ไม่เป็นประเด็น เพราะหน่วยงานเหล่านั้น ได้รับโจทย์การขับเคลื่อนในระดับที่ตนเองดูแลรับผิดชอบอยู่แล้ว ไม่เชื่อ ก็ลองถามสภาธุรกิจสิงคโปร์ดู
[กรุงเทพธุรกิจ]
No comments:
Post a Comment