Pages

Thursday, October 10, 2013

ใช้ CSR สร้าง Shared Value


ว่าไปแล้วเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ หรือ CSR ที่บอกว่า จะเข้าสู่ยุค CSV หรือที่ย่อมาจาก Creating Shared Value คงเป็นเหมือนการนำหนังเก่ามาทำใหม่ ใส่ตัวแสดงให้หนุ่มขึ้น สาวขึ้น สดใสขึ้น แต่พล็อตเรื่องก็ไม่ได้ต่างไปจากเดิม

พล็อตที่ว่านี้ คือ การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจขับเคลื่อนเรื่อง CSR ด้วยการผนวกความรับผิดชอบต่อสังคมไว้ในกระบวนการธุรกิจ โดยหลีกเลี่ยงการมองเรื่อง CSR ว่าเป็นงานที่แยกต่างหากจากการดำเนินธุรกิจ หรือต้องไปสร้างโครงการ พัฒนากิจกรรมเพื่อสังคมขึ้นใหม่ทุกปี เพื่อแสดงให้เห็นว่า องค์กรได้ทำเรื่อง CSR อย่างต่อเนื่อง

CSR ในลักษณะที่เกิดขึ้นเป็นโครงการหรือกิจกรรมต่างหาก ก็เพราะองค์กรมิได้คิดให้เชื่อมร้อยกับกระบวนการทางธุรกิจที่ดำเนินอยู่ตั้งแต่แรก หรือมีการวางแผนดำเนินการภายหลังที่ผลกระทบจากกระบวนการธุรกิจนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว จึงมักเรียกกันว่าเป็น CSR-after-process และผู้มีส่วนได้เสียในกรณีนี้ คือ ชุมชนและสังคมที่มิได้อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจ รวมถึงสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศโดยรวม

ส่วน CSR จำพวกที่องค์กรธุรกิจในปัจจุบัน ได้ให้ความสำคัญเพิ่มขึ้น และเริ่มตระหนักแล้วว่าเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่ส่งผลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มากกว่าในแบบแรก คือ CSR-in-process ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่ธุรกิจ และมีบทบาทสำคัญในการสร้างให้เกิดคุณค่าร่วมระหว่างองค์กรและสังคม หรือ CSV ไปพร้อมกัน

หลักการสำคัญของ CSR-in-process คือ ‘อย่าพยายามนำ CSR มาเป็นงาน แต่ให้ทำงานที่มีอยู่อย่างมี CSR’ ภายใต้หลักการนี้ จะทำให้เห็นความแตกต่างในสามเรื่องสำคัญ ได้แก่ โครงสร้างการดำเนินงาน กลยุทธ์การดำเนินงาน และผลลัพธ์จากการดำเนินงาน

ในเรื่องโครงสร้างการดำเนินงาน การที่กิจการหลายแห่งได้ตั้งหน่วยงาน CSR ขึ้นในองค์กร ไม่ได้หมายความว่า จะต้องถ่ายโอนหรือมอบหมายงาน CSR ทั้งหมดขององค์กร มาให้หน่วยงานที่ตั้งขึ้นนี้ดำเนินการ หรือไม่ใช่ว่า เมื่อองค์กรมีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่อง CSR โดยตรง จากนี้ไปหน่วยงานอื่นก็ไม่จำเป็นต้องทำงานที่เกี่ยวกับ CSR แล้ว ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ ความเสียหายก็จะเกิดขึ้น เพราะพนักงานในองค์กรจะอ้างว่าเป็นเรื่องที่หน่วยงาน CSR ควรดำเนินการ มิใช่เรื่องของฉันอีกต่อไป

การขับเคลื่อนเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น มีบริบทที่คล้ายคลึงกับเรื่องอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานที่พนักงานทุกฝ่ายต้องมีส่วนเกี่ยวข้อง มิใช่เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) ฝ่ายเดียว ฉันใดฉันนั้น หน่วยงาน CSR ที่ตั้งขึ้น มีหน้าที่ในการดูแลอำนวยการเพื่อให้มั่นใจว่า ทุกฝ่ายได้บูรณาการเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมไว้ในกระบวนงานทั่วทั้งองค์กร

ในเรื่องกลยุทธ์การดำเนินงาน เมื่อเห็นว่า CSR เป็นเรื่องสำคัญ กิจการหลายแห่งจึงได้ริเริ่มพัฒนากลยุทธ์การดำเนินงาน CSR ขึ้น ถึงขนาดที่จัดทำเป็นแผนแม่บท CSR และแผนปฏิบัติการ CSR อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ที่น่ากังวล คือ แผนยุทธศาสตร์ CSR ที่จัดทำขึ้น ไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์องค์กร หรือมีการจัดทำแผนปฏิบัติการ CSR ขึ้นใหม่เพื่อรองรับกับยุทธศาสตร์ CSR ดังกล่าว โดยมิได้นำเอาแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมในแผนปฏิบัติการฉบับที่องค์กรมีอยู่แล้ว มาพิจารณาความเกี่ยวข้องต่อเรื่อง CSR เลย

การจัดทำแผนปฏิบัติการด้าน CSR ขึ้นเฉพาะสำหรับหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพ หรือสำหรับหน่วยงานอื่นๆ ในองค์กร แยกต่างหากจากแผนปฏิบัติการฉบับปกติ จะเป็นการสร้างภาระความซ้ำซ้อนให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน และตามหลักการของ CSR-in-process ข้างต้น สถานะของ CSR ควรจะต้องผนวกอยู่ในแผนระดับองค์กร แล้วจึงมีการถอดความหรือถ่ายทอดลงมาสู่ระดับส่วนงานต่างๆ ภายใต้กระบวนการจัดทำแผนปฏิบัติการปกติของแต่ละหน่วยงานตามลำดับ

กระบวนทัศน์ที่องค์กรควรจะมีต่อ CSR-in-process กับกลยุทธ์การดำเนินงาน คือ หลีกเลี่ยงการจัดทำ ‘CSR Strategy’ แต่ให้พัฒนา ‘Strategic CSR’ ที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์องค์กร เพราะมิฉะนั้นแล้ว ผู้ปฏิบัติงานจะมีความยุ่งยากในการตอบสนองต่อแผนหลายฉบับ (ที่ไม่บูรณาการ) ตัวชี้วัดหลายชุด (ที่ไม่มีนัยสำคัญ) และกิจกรรมหลายประเภท (ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับงานหลักที่ทำ)

ในเรื่องผลลัพธ์จากการดำเนินงาน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการวางกลยุทธ์การดำเนินงาน หากกิจการใช้วิธีการดำเนินกลยุทธ์ CSR แยกต่างหากจากกลยุทธ์องค์กร ผลจากการดำเนินกลยุทธ์ CSR อาจตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ (Objectives) ที่กำหนดในระดับแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม แต่อาจไม่ส่งผลลัพธ์ต่อเป้าประสงค์ (Goals) ในระดับองค์กร นี่จึงเป็นสาแหตุที่การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของหลายองค์กร ไม่สามารถตอบโจทย์การนำองค์กรไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้

ฉะนั้น การขับเคลื่อนเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมตามแนวทาง CSR-in-process จะเป็นหนทางที่เอื้อให้เกิดการสร้างคุณค่าร่วม (Shared Value) จากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในเนื้องานหรือในกระบวนงาน อันส่งผลต่อความยั่งยืนของทั้งตัวกิจการและสังคมโดยรวม


[กรุงเทพธุรกิจ]

No comments:

Post a Comment