“แนวคิด” เรื่อง Creating Shared Value หรือ CSV ที่ Michael E. Porter และ Mark R. Kramer นำเสนอไว้ เมื่อปี 2554 ผ่านทางบทความซึ่งตีพิมพ์ใน Harvard Business Review ปัจจุบัน กำลังถูกแปลงเป็น “แนวปฏิบัติ” ที่หลายองค์กรนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างให้เกิดคุณค่าร่วมระหว่างองค์กรและสังคมไปด้วยกัน
จุดสำคัญของการสร้างคุณค่าร่วมตามนิยาม CSV ของ Porter และ Kramer คือ คุณค่าที่องค์กรและสังคมได้รับจากการดำเนินงานขององค์กร จะต้องเกิดขึ้นไปพร้อมๆ กัน ทำให้การบริจาค หรือ Philanthropy ซึ่งเป็น CSR ในรูปแบบหนึ่ง จึงไม่ถูกจัดรวมว่าเป็นเรื่อง CSV เพราะถือเป็นการส่งมอบคุณค่าที่ได้เกิดขึ้นแล้ว มิใช่คุณค่าที่สร้างขึ้น หรือเกิดขึ้นควบคู่ไปพร้อมกัน
ดังนั้น เพื่อให้เห็นภาพของการนำแนวคิด CSV ไปสู่การปฏิบัติ จากที่ดิฉันได้เข้าร่วมรับการอบรมกับทีมวิทยากรที่นำโดย Mark R. Kramer เจ้าของแนวคิด Shared Value องค์กรสามารถจำแนกวิธีการสร้างคุณค่าร่วมออกได้เป็น 3 ระดับ คือ ระดับของการคิดค้นผลิตภัณฑ์ขึ้นใหม่ที่เป็นความต้องการของสังคม โดยเฉพาะกับตลาดหรือกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง ระดับของการกำหนดบรรทัดฐานใหม่ในเรื่องผลิตภาพโดยให้ความสำคัญกับประเด็นทางสังคมตลอดห่วงโซ่คุณค่า และระดับของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่นที่เอื้อต่อธุรกิจ
ในระดับของการคิดค้นผลิตภัณฑ์ขึ้นใหม่ที่เป็นความต้องการของสังคม โดยเฉพาะกับตลาดหรือกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง เป็นแนวปฏิบัติในการสร้างคุณค่าร่วมโดยมุ่งเน้นที่การพัฒนา ‘Products’ เพื่อตอบสนองความต้องการทางสังคม ซึ่งเป็นการส่งมอบคุณค่าให้แก่สังคมโดยตรงผ่านทางตัวสินค้าและบริการ ในขณะที่ธุรกิจจะได้รับคุณค่าในรูปของรายได้ ส่วนแบ่งตลาด การเติบโต และความสามารถในการทำกำไรที่เพิ่มขึ้น
ตัวอย่างของการสร้างคุณค่าร่วมในระดับผลิตภัณฑ์ อาทิ ในธุรกิจการเงิน มีการออกแบบสินเชื่อหรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินสำหรับผู้ประกอบการสังคม หรือโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนำทรัพยากรธรรมชาติไปใช้ประโยชน์ มีการพัฒนารูปแบบของแหล่งพลังงานทดแทน พลังงานสะอาด ในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม มีการใช้สารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการในการประกอบหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ลดการใช้สารเคมีหรือสารปรุงแต่งอาหารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ในธุรกิจบริการสุขภาพ มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับคนชั้นฐานราก ด้วยคุณภาพในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม ในธุรกิจบริการโทรคมนาคม มีการขยายบริการเครือข่ายที่ครอบคลุมพื้นที่ชนบทห่างไกลและขาดแคลนบริการ เป็นต้น
ในระดับของการกำหนดบรรทัดฐานใหม่ในเรื่องผลิตภาพ โดยให้ความสำคัญกับประเด็นทางสังคมตลอดห่วงโซ่คุณค่า เป็นแนวปฏิบัติในการสร้างคุณค่าร่วมโดยมุ่งเน้นที่การยกระดับ ‘Value Chain’ โดยใช้ประเด็นทางสังคมมาเป็นโจทย์ในการพัฒนาผลิตภาพร่วมกับคู่ค้าและหุ้นส่วนทางธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งเป็นการส่งมอบคุณค่าให้แก่สังคมจากการจัดการทรัพยากร วัตถุดิบ แรงงาน ค่าตอบแทน ในขณะที่ธุรกิจจะได้รับคุณค่าในรูปของประสิทธิภาพ การบริหารต้นทุน ความมั่นคงทางวัตถุดิบ คุณภาพ และความสามารถในการทำกำไรที่เพิ่มขึ้น
ตัวอย่างของการสร้างคุณค่าร่วมในระดับห่วงโซ่คุณค่า อาทิ ในธุรกิจการเงิน มีการพัฒนาช่องทางการเข้าถึงและการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านธนาคารทางโทรศัพท์มือถือ (Mobile Banking) ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนำทรัพยากรธรรมชาติไปใช้ประโยชน์ มีการปรับปรุงสวัสดิภาพ อาชีวอนามัย ความปลอดภัย และคุณภาพชีวิตของแรงงาน ในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม มีการพัฒนาแหล่งวัตถุดิบและผู้ส่งมอบในท้องถิ่น ในธุรกิจบริการสุขภาพ มีการขยายช่องทางบริการโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ในธุรกิจบริการโทรคมนาคม มีการผนึกพลังร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจในการเพิ่มมูลค่าโครงข่ายด้วย Application หรือ Content ต่างๆ เป็นต้น
ในระดับของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่นที่เอื้อต่อธุรกิจ เป็นแนวปฏิบัติในการสร้างคุณค่าร่วมโดยมุ่งเน้นที่ ‘Local Community’ โดยเพิ่มบทบาทในการร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในแง่มุมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ ซึ่งเป็นการส่งมอบคุณค่าให้แก่สังคมด้วยการสร้างงาน การสาธารณสุข การศึกษา เศรษฐกิจชุมชน สวัสดิการสังคม ในขณะที่ธุรกิจจะได้รับคุณค่าทั้งในแง่ของรายได้และการบริหารต้นทุน การเข้าถึงปัจจัยการผลิต การกระจายตัวสินค้า รวมถึงความสามารถในการทำกำไรที่เพิ่มขึ้น
ตัวอย่างของการสร้างคุณค่าร่วมในระดับชุมชนท้องถิ่น อาทิ ในธุรกิจการเงิน ให้การสนับสนุนสินเชื่อแก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยในระดับฐานราก (Microfinance) ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนำทรัพยากรธรรมชาติไปใช้ประโยชน์ มีการร่วมพัฒนาชุมชนเพื่อเสริมสร้างบริบทการแข่งขันในตลาดเกิดใหม่ ในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มการลงทุนและพัฒนาผลผลิตในภาคเกษตรที่เป็นแหล่งวัตถุดิบ ในธุรกิจบริการสุขภาพ ขยายบทบาทการให้ความรู้เรื่องสุขภาพแก่ชุมชนโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ในธุรกิจบริการโทรคมนาคม มีการสนับสนุนบริการโทรคมนาคมขั้นพื้นฐานและบริการเพื่อสังคม เช่น ศูนย์อินเทอร์เน็ตในโรงเรียน และศูนย์อินเทอร์เน็ตในชุมชน เป็นต้น
ด้วยแนวทางการสร้างคุณค่าร่วมทั้ง 3 ระดับข้างต้น จะช่วยให้องค์กรสามารถพัฒนา CSV ไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมได้ดียิ่งขึ้น
[ประชาชาติธุรกิจ]
No comments:
Post a Comment