Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

จาก ’โครงการ’ สู่ ‘กระบวนการ’


สัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดสัมมนา "แนวทางการเปิดเผยข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมตามแบบ 56-1" เพื่อชี้แจงหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการรายงานการเปิดเผยข้อมูลตามมาตรา 56 ที่ปรับปรุงใหม่ โดยเน้นการดำเนินกิจการด้วยความรับผิดชอบ (CSR-in-process) ให้แก่บริษัทจดทะเบียนจำนวนเกือบ 300 แห่ง

CSR-in-process เป็นการดำเนินธุรกิจปกติของกิจการให้เป็นไปด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินงานตรงจุดที่เกิดผลกระทบในห่วงโซ่ธุรกิจ และอยู่ในวิสัยที่องค์กรสามารถบริหารจัดการและวัดผลได้ เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ การจัดหาวัตถุดิบ การออกแบบกระบวนการผลิต การปฏิบัติต่อพนักงานลูกจ้าง การแข่งขัน การปฏิบัติต่อลูกค้า ฯลฯ

การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมให้ได้ประสิทธิผลนั้น มีส่วนที่ขึ้นอยู่กับการให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการ สมรรถภาพของบุคลากร การกำกับดูแล การตรวจตรา การประเมินผล และการทบทวนสิ่งที่ดำเนินการ

การให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ แสดงให้เห็นได้ด้วยเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการดำเนินกิจการด้วยความรับผิดชอบ คำนึงถึงความเป็นธรรมและผลกระทบในด้านต่างๆ ผ่านทางสารจากผู้บริหาร นโยบายจากคณะกรรมการที่จะดำเนินธุรกิจให้เป็นไปด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้ที่เกี่ยวข้องภายใต้บริบทความยั่งยืน รวมทั้งการผนวกเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมให้เป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ ภารกิจ ค่านิยม วัฒนธรรมองค์กร ฯลฯ ที่ซึ่งบุคลากรในทุกระดับ สามารถรับรู้ว่าเป็นแนวทางที่กิจการได้ให้ความสำคัญและต้องปฏิบัติตาม

ในการสร้างสมรรถภาพการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม ควรเริ่มด้วยการปลูกฝังความรับผิดชอบต่อสังคมให้อยู่ในทุกส่วนขององค์กร จากการให้คำมั่นและการสร้างความเข้าใจร่วมกันในทุกระดับ

เริ่มจากผู้นำสูงสุด โดยชี้ให้เห็นถึงนัยและประโยชน์ของความรับผิดชอบต่อสังคม หรือใช้การต่อยอดจากค่านิยมและวัฒนธรรมขององค์กรที่มีอยู่ และมีการพัฒนาทักษะในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่นำมาดำเนินการ ซึ่งอาจครอบคลุมไปถึงการฝึกอบรมให้แก่ผู้จัดการและคนงานในสายอุปทาน

การกำกับดูแลความรับผิดชอบต่อสังคม สำหรับกิจการขนาดใหญ่ ควรมีการกำหนดโครงสร้างและกระบวนการอย่างชัดเจน เช่น การมีคณะกรรมการชุดย่อย/คณะทำงาน และการกำหนดบุคคลหรือหน่วยงานดูแลรับผิดชอบ แผนการดำเนินงานระยะสั้น/ระยะยาว และหลักเกณฑ์วิธีการประเมินผลการดำเนินงาน ฯลฯ ส่วนกิจการขนาดเล็ก อาจใช้วิธีแบบไม่เป็นทางการ โดยผู้นำองค์กรใช้การขับเคลื่อนผ่านค่านิยมและวัฒนธรรมขององค์กร การสานเสวนากับพนักงาน เป็นต้น

สำหรับการตรวจตราและเฝ้าสังเกตการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม อาจทำได้หลายวิธี เช่น การติดตามและเก็บรวบรวมข้อมูลตัวบ่งชี้การดำเนินงานตามรอบเวลา การเทียบเคียง (Benchmarking) ผลการดำเนินงาน และการวัดผลตอบรับจากผู้มีส่วนได้เสีย

ส่วนการทบทวนการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นการนำผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นในแต่ละประเด็นมาเปรียบเทียบกับผลที่ได้ในช่วงเวลาก่อนหน้า เพื่อประเมินความก้าวหน้า การบรรลุเป้าหมายของตัวชี้วัด และวัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน โดยกิจการสามารถดำเนินการร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียเพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับกระบวนการ โดยเฉพาะในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข ความคาดหวัง กฎ ระเบียบ ที่กระทบต่อการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม หรือเกิดโอกาสใหม่ๆ ในการขยายบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ จากมุมมองของผู้มีส่วนได้เสีย

นอกจากนี้ กิจการควรนำผลลัพธ์จากการทบทวนการดำเนินงาน มาพิจารณาหาหนทางในการปรับปรุงการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การปรับปรุง หมายรวมถึง การแก้ไขเพิ่มเติมเป้าหมายและวัตถุประสงค์ซึ่งสะท้อนเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงไปหรือเพื่อมุ่งหมายผลสัมฤทธิ์ที่ท้าทายยิ่งขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การขยายขอบเขตการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม การเพิ่มทรัพยากรหรือจัดหาทรัพยากรประเภทใหม่ และการริเริ่มดำเนินงานเพื่อรองรับโอกาสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น

การเชื่อมโยงผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมเฉพาะในบางเรื่องเข้ากับการประเมินผลการปฏิบัติงานของกรรมการและผู้บริหาร จะช่วยสร้างข้อยึดมั่นในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

งานสัมมนาแนวทางการเปิดเผยข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมตามแบบ 56-1 ในครั้งนี้ มี บมจ.บางจาก ปิโตรเลียม เป็นผู้ให้การสนับสนุน โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 500 คน


[กรุงเทพธุรกิจ]