Pages

Thursday, February 27, 2014

6 เข็มทิศ CSR ปี 57

ชนิตา ภระมรทัต

จะรับรู้ได้ว่า CSR นั้น "ฮอต"เพียงไร ทันทีที่ก้าวเข้าไปในงานแถลงทิศทาง CSR ปี 2557 "Corporate Citizenship" ซึ่งเป็นงานที่ตลาดหลักทรัพย์แห่ง ประเทศไทย จัดร่วมกับสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 แล้ว


ด้วยไม่เพียงแค่บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น แต่มีผู้ขับเคลื่อน CSR ขององค์กรธุรกิจ กว่า 300 คนทั่วฟ้าเมืองไทยที่สนใจเข้าร่วมงานในครั้งนี้

และอาจเป็นหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่า CSR ไม่ใช่กระแสแฟชั่น แต่ได้รับการยอมรับว่าเป็นยาสามัญประจำบ้านอย่างแท้จริง

โดยทิศทาง CSR ในปี 57 นี้ ไฮไลท์อยู่ที่คำว่า Corporate Citizenship และแนวคิดของ ไมเคิล อี พอร์เตอร์ เกี่ยวกับการสร้างคุณค่าร่วมระหว่างธุรกิจกับสังคม หรือ Creating Shared Value (CSV)

"ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ" ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ อธิบายว่าที่ได้กำหนดให้ Corporate Citizenship เป็นธีมของงานนั้นก็เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ภายในประเทศที่กำลังมีความเคลื่อนไหวเรื่องการปฏิรูปสังคมในประเด็นต่างๆ

เขาบอกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวอาจลุกลาม บานปลาย และสิ้นหวัง ถ้าทุกภาคส่วนเพิกเฉยไม่ร่วมกันแก้ไข แน่นอนในที่นี้หมายรวมถึง องค์กรธุรกิจในภาคเอกชนที่สามารถใช้หมวกของพลเมืองภาคองค์กรที่ดี หรือ Corporate Citizen เป็นอีกหนึ่งแรงเข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน ขณะที่แนวคิด CSV ที่แม้จะมีเป้าหมายเป็นตัวเลขกำไร แต่ก็นำเอาประเด็นปัญหาสังคมและนำความเชี่ยวชาญที่มีมาใช้คิดค้นหาแนวทางการดำเนินธุรกิจ

ดังนั้น CSV อาจเป็นทางเลือกที่จะช่วยตอบโจทย์การทำดีในแบบฉบับโลกทุนนิยมได้ดีกว่า สำหรับบางองค์กรธุรกิจที่มองว่าการทำดีแบบ CSR เป็นได้เพียงแค่อุดมคติ

แต่ที่สุดแล้ว ดร.พิพัฒน์บอกว่าไม่ว่าการทำดีในทางเลือกแบบใดก็ล้วนส่งผลดีทั้งสิ้น และทุกอย่างจะเป็นจริงได้ก็ขึ้นอยู่กับ Walk the Talk คือพูดแล้วต้องทำ ไม่ใช่ NATO (No Action Talk Only) คือดีแต่พูด แต่ไม่ลงมือทำ


สำหรับ ทิศทาง CSR ปี 2557 สถาบันไทยพัฒน์ฯ เปิดเผยว่ามี 6 ทิศทาง ดังนี้

1. Corporate Citizenship Engagement
ธุรกิจจะเข้ามามีบทบาทของการร่วมปฏิรูปสังคมไทยในฐานะพลเมืองภาคองค์กร องค์กรธุรกิจสามารถดำรงบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการทำหน้าที่ในหมวกของพลเมืองภาคองค์กร (Corporate Citizen) เข้าร่วมขบวนปฏิรูปสังคม ร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นประเด็นที่มีปัญหาเรื้อรังมายาวนาน และเป็นหนึ่งในวาระหลักของการปฏิรูป ทำให้คาดได้ว่า ในปีนี้ องค์กรธุรกิจหลายแห่ง โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียน จะมีการวางแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่น และมีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่น เป็นส่วนหนึ่ง ของรายงาน CSR

2. Materiality Matters
ธุรกิจจะเพิ่มน้ำหนักความสำคัญมาที่ “สาระ” ของการดำเนินงานและการรายงาน CSR มากขึ้น แนวโน้มการเปิดเผยข้อมูล CSR ตามกรอบการรายงานสากล และตามประกาศเรื่องการเปิดเผยข้อมูล CSR ของสำนักงาน ก.ล.ต. เน้นการให้ความสำคัญที่สาระของการดำเนินงาน อยู่เหนือการตรวจสอบรูปแบบของรายการที่ดำเนินงาน และให้น้ำหนักกับความสามารถในการเลือกเรื่องที่สำคัญเพื่อดำเนินการ มากกว่าความสามารถ ในการแจกแจงเรื่องทั้งหมดที่ได้ดำเนินการ ในปีนี้ องค์กรธุรกิจจะให้ความสำคัญกับการริเริ่มพัฒนาขีดความสามารถในการเลือกเรื่องที่จะดำเนินการ โดยเน้นที่สารัตถภาพ (Materiality) ของประเด็นด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อรับกับแนวโน้มที่เกิดขึ้น

3. De-Organization Imperative
เส้นแบ่งของ CSR ระหว่างองค์กรกับองค์กรข้างเคียงในห่วงโซ่ธุรกิจจะเลือนรางลง ประเด็นการดำเนินงาน CSR จากนี้ไป จะไม่ขึ้นอยู่กับสมรรถนะขององค์กรเพียงลำพัง แต่ยังยึดโยงกับสมรรถนะของคู่ค้า และครอบคลุมไปถึงผู้มีส่วนได้เสียอื่นในห่วงโซ่ธุรกิจ เส้นแบ่งของ CSR ระหว่างองค์กรกับองค์กรข้างเคียงในห่วงโซ่ธุรกิจจะเลือนรางลง หรือทำให้เกิดการลดทอนตัวตนหรือสภาพขององค์กรลง (De- Organization) เนื่องจากองค์กรไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วยการผลักภาระให้พ้นจากเขตความรับผิดชอบของตนได้ ทำให้คาดได้ว่า ในปีนี้ กิจการขนาดใหญ่หลายแห่ง จะลุกขึ้นเป็นผู้นำการขับเคลื่อน CSR ร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่ธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

4. Strategy-Based CSR
แผนงาน CSR จะถูกยกระดับสู่การพัฒนา CSR เชิงกลยุทธ์ ที่เชื่อมร้อยกับยุทธศาสตร์องค์กร วิธีการที่จะผนวก CSR เข้าในทุกส่วนการดำเนินงานขององค์กรได้อย่างบูรณาการ คือ การวางแนวทางการขับ เคลื่อน CSR ไว้ในระดับกลยุทธ์องค์กร มิใช่เพียงการดำเนินงานตามแผนงาน CSR ที่เป็นรายโครงการหรือรายกิจกรรม ในปีนี้ กระบวนทัศน์ของกิจการที่เน้นการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ (CSR-in- process) จะให้ความสำคัญกับการพัฒนา CSR ในเชิงกลยุทธ์ (Strategy-Based) ที่เชื่อมร้อยเข้ากับยุทธศาสตร์องค์กร โดยมุ่งให้เกิดผลลัพธ์ที่สนองตอบต่อเป้าประสงค์ในระดับองค์กร มากกว่าการ ตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ในระดับแผนงานที่เป็นรายโครงการหรือรายกิจกรรม

5. Creating Shared Value
แนวคิดการสร้างคุณค่าร่วม จะถูกนำมาใช้เป็นกลยุทธ์ในธุรกิจเพื่อตอบโจทย์สังคมเพิ่มมากขึ้นการสร้างคุณค่าร่วม หรือ Creating Shared Value (CSV) คือ การนำวิธีการทางธุรกิจมา ใช้ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาสังคม โดยคำนึงถึงการนำทรัพยากรและความเชี่ยวชาญหลักของกิจการ มาสร้างให้เกิดเป็นคุณค่าเชิงเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมกัน ในปีนี้ คาดว่าจะมีธุรกิจที่นำแนวคิด CSV มาใช้เพื่อแสดงให้ เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และการตอบสนองต่อประเด็นปัญหาหรือความจำเป็นทางสังคม ที่สร้างให้เกิดโอกาสทางธุรกิจ ด้วยการนำทรัพยากรและความเชี่ยวชาญหลักขององค์กรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยมีผลตอบแทนทาง ธุรกิจเป็นสิ่งจูงใจเพิ่มมากขึ้น

6. Green Procurement Policy
ธุรกิจจะมีการจัดทำนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว เพื่อแสดงถึง CSR ในประเด็นสิ่งแวดล้อม การจัดซื้อจัดจ้าง ถือเป็นกระบวนการสำคัญของธุรกิจ ที่สามารถใช้แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ใน การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการผลักดันให้คู่ค้าในห่วงโซ่ธุรกิจหันมาใส่ใจผลิตสินค้าและบริการที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพ ในปีนี้ ภาคธุรกิจ จะมีความเคลื่อนไหวในการจัดทำนโยบายการจัดซื้อ จัดจ้างสีเขียวเพิ่มมากขึ้น มีการพิจารณาคัดเลือกคู่ค้าโดยใช้หลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมจากเดิม รวมถึงการใช้ทะเบียนผู้ค้า (Approved Vendor List) เป็นเครื่องมือในการผลักดันเพิ่มยอดการจัด ซื้อจัดจ้างสีเขียวขององค์กร


[Original Link]

No comments:

Post a Comment