‘ซีเอสวี’ กลยุทธ์ธุรกิจคู่สังคม
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับสถาบันไทยพัฒน์ เผยทิศทางซีเอสอาร์ปีนี้ เน้นบทบาทความเป็นพลเมืองของภาคธุรกิจ (Corporate Citizenship)
ถ้าจะพูดถึงคำว่า “ซีเอสวี : CSV” หลายคนอาจยังไม่รู้จัก แต่ถ้าพูดถึงคำว่า “ซีเอสอาร์ : CSR” เชื่อแน่ว่าทุกองค์กรธุรกิจจะรู้จักคำนี้เป็นอย่างดี
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับสถาบันไทยพัฒน์ เผยทิศทางซีเอสอาร์ปีนี้ เน้นบทบาทความเป็นพลเมืองของภาคธุรกิจ (Corporate Citizenship) และแนวคิดของ ไมเคิล อี พอร์เตอร์ เกี่ยวกับการสร้างคุณค่าร่วมระหว่างธุรกิจกับสังคม (Creating Shared Value : CSV)
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “แม้ว่าแนวคิดซีเอสวีจะมีเป้าหมายเป็นตัวเลขกำไร แต่ก็นำเอาประเด็นปัญหาสังคมและนำความเชี่ยวชาญที่มีมาใช้คิดค้นหาแนวทางการดำเนินธุรกิจ อาจเป็นทางเลือกที่จะช่วยตอบโจทย์การทำดีในแบบฉบับโลกทุนนิยมได้ดีกว่า สำหรับบางองค์กรธุรกิจที่มองว่าการทำดีแบบซีเอสอาร์เป็นได้เพียงแค่อุดมคติ”
แนวคิดเรื่องซีเอสวี ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในบทความที่ไมเคิล อี พอร์เตอร์ เขียนร่วมกับ มาร์ค เครเมอร์ เมื่อเดือนธันวาคม ปีพ.ศ. 2549 โดยได้ให้คำนิยามไว้ว่า เป็นการพัฒนาเชิงสังคมในวิถีของการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจด้วยรูปแบบธุรกิจ
หมายความว่า วิธีการสร้างคุณค่าร่วมตามแนวทางซีเอสวี จะต้องผนวกเข้ากับความสามารถในการแสวงหากำไรและการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันขององค์กร โดยใช้ทรัพยากรและความเชี่ยวชาญหลักของกิจการในการสร้างให้เกิดคุณค่าเชิงเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมกัน
เป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการทำธุรกิจที่องค์กรใช้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อม ๆ กันมีหลายองค์กรยังสับสนระหว่างซีเอสอาร์ กับซีเอสวีอยู่
ตัวช่วยที่ใช้จำแนกความแตกต่างระหว่างซีเอสอาร์กับซีเอสวี คือ คุณลักษณะของซีเอสวีจะต้องมี “ภาวะคู่กัน” ของประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นทั้งต่อองค์กรและสังคม มิใช่เกิดขึ้นกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว
นั่นหมายความว่า กรณีของซีเอสอาร์ หรือความรับผิดชอบขององค์กรที่สังคมได้ประโยชน์ฝ่ายเดียวจะไม่จัดว่าเป็นซีเอสวี ส่วนการบริจาคที่เป็นการส่งมอบคุณค่าที่ได้เกิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่คุณค่าที่สร้างขึ้นหรือเกิดขึ้นควบคู่ไปพร้อมกัน ก็ไม่ถือว่าเป็นซีเอสวีเช่นกัน
จุดที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดระหว่างซีเอสอาร์กับซีเอสวีคือ คุณค่าที่องค์กรได้รับจากการทำซีเอสอาร์เป็นเรื่องของการยอมรับ ภาพลักษณ์ ชื่อเสียง หรือปัจจัยที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ขณะที่คุณค่าที่องค์กรรับจากการทำซีเอสวี จะเป็นเรื่องของการได้มาซึ่งความสามารถในการสร้างผลกำไรในระยะยาว
จุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของซีเอสวี คือการขับเคลื่อนการพัฒนา หรือแก้ไขสังคม จะมุ่งเน้นประเด็นทางสังคมที่เปิดโอกาสให้เกิดการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ และจากความเชี่ยวชาญขององค์กรเป็นสำคัญ
ขณะที่ซีเอสอาร์ การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม จะครอบคลุมทั้งในเรื่องที่องค์กรต้องปฏิบัติตามกฎหมายเป็นพื้นฐาน รวมไปถึงเรื่องที่สังคมหรือผู้มีส่วนได้เสียของกิจการคาดหวังให้องค์กรดำเนินการ โดยไม่จำกัดว่าเรื่องนั้น องค์กรจะมีสินทรัพย์หรือมีความเชี่ยวชาญเป็นทุนเดิมอยู่หรือไม่ก็ตาม
แนวคิดซีเอสวีไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อทดแทนเรื่องซีเอสอาร์ หรือเรื่องความยั่งยืน แต่องค์กรธุรกิจที่นำแนวคิดซีเอสวีมาใช้ สามารถแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสังคมผ่านการทำธุรกิจที่แต่ละองค์กรได้ใช้ความถนัดและความเชี่ยวชาญของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด โดยมีแรงจูงใจจากผลตอบแทนทางธุรกิจเป็นตัวขับเคลื่อนในตัวเอง และไม่จำเป็นต้องอาศัยแรงกดดันจากภายนอก
แต่ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าการทำดีในทางเลือกแบบใดก็ล้วนแต่ส่งผลดีทั้งสิ้น และทุกอย่างจะเป็นจริงได้ก็ขึ้นอยู่กับการลงมือทำ คือพูดแล้วต้องทำ ไม่ใช่ดีแต่พูด แต่ไม่ลงมือทำ.
[Original Link]