จะทำทุกเรื่อง หรือทำให้ถูกเรื่อง
การใช้รายการตรวจสอบ (Check-list) เพื่อกำกับให้องค์กรดำเนินการในเรื่องการกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance: CG) โดยคาดหวังให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าประสงค์ กลับเป็นตัวชี้นำให้เกิดเกณฑ์การประเมินด้วยการวัดปริมาณของรายการที่ผ่านการตรวจสอบ มากกว่าการคำนึงถึงคุณภาพของผลการดำเนินงานตามที่ระบุในรายการตรวจสอบนั้น การวัดผลสัมฤทธิ์ที่ผ่านมา จึงติดหล่มอยู่กับรูปแบบ (Form) จนไปบดบังสาระ (Substance) ของการดำเนินงาน
จากบทเรียนดังกล่าว ทำให้แนวทางการขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (Corporate Social Responsibility: CSR) ในปัจจุบัน จึงเน้นให้ความสำคัญกับสาระของการดำเนินงานในประเด็นที่มีนัยสำคัญต่อการดำเนินการของบริษัท มากกว่ารูปแบบของการดำเนินงาน สอดคล้องกับมาตรฐานและกรอบแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมที่เป็นสากล
ผู้บริหารสูงสุดควรกำหนดแนวทางในการผลักดันองค์กรให้เข้าถึงการขับเคลื่อน CSR ในระดับที่สูงขึ้น ด้วยการให้ความสำคัญกับการริเริ่มพัฒนาขีดความสามารถในการเลือกเรื่องที่จะดำเนินการ โดยเน้นที่สารัตถภาพ (Materiality) ของประเด็นด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีความแตกต่างกันในแง่มุมการดำเนินงานตามปัจจัยและเงื่อนไขของแต่ละกิจการ
สารัตถภาพ ในที่นี้หมายถึง ความมีสาระสำคัญของสิ่งที่เลือกมาดำเนินการ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง การประเมินว่าประเด็นใดมีสาระสำคัญต่อการดำเนินการ ควรพิจารณาจากความเกี่ยวเนื่อง (Relevance) ที่มีผลต่อขีดความสามารถในการสร้างคุณค่าขององค์กรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ผลกระทบที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้นซึ่งสามารถส่งผลให้องค์กรเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ (Significance) และการให้ความสำคัญ (Prioritization) โดยองค์กรและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องต่อประเด็นดังกล่าว
การดำเนินงาน CSR ให้เป็นที่ยอมรับ ไม่ได้เกิดจากการที่องค์กรต้องดำเนินการในทุกเรื่อง แต่มาจากที่องค์กรต้องดำเนินการให้ถูกเรื่อง เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดบนเงื่อนไขของทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ความสำคัญจึงอยู่ที่ความสามารถในการเลือกเรื่องที่สำคัญเพื่อดำเนินการ มากกว่าความสามารถที่จะดำเนินการในทุกเรื่อง
องค์กรควรดำเนินการคัดเลือกเรื่อง (Topics) โดยใช้หลักเกณฑ์ซึ่งเป็นบรรทัดฐานในอุตสาหกรรมหรือเป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ เพื่อให้ได้มาซึ่งรายละเอียดของเรื่องในระดับประเด็นหรือแง่มุม (Aspects) การดำเนินงานที่มีนัยสำคัญต่อองค์กรในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับข้อกังวลหรือความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย
คำถามในการใช้คัดเลือกเรื่องเพื่อดำเนินการ ควรประกอบด้วย เรื่องที่เป็นผลกระทบหรือข้อกังวลของกิจการมีอะไรบ้าง เรื่องนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการหรือไม่ สามารถจัดอยู่ภายใต้หมวดใด (เศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม) และเกิดขึ้นที่ใด (ภายในกิจการ, ภายนอกกิจการ, หรือทั้งภายในและภายนอกกิจการ)
ขอบเขตการดำเนินงานของเรื่องที่ถูกคัดเลือก มีความครอบคลุมใน 2 ระดับ ระดับภายในองค์กร ประกอบด้วย บริษัทแม่ บริษัทย่อย สาขา ธุรกิจร่วมค้า หรือกิจการที่องค์กรเป็นเจ้าของหรือมีอำนาจควบคุมดูแล ระดับภายนอกองค์กร ประกอบด้วย ผู้ส่งมอบ ผู้จัดจำหน่าย ผู้บริโภค หรือหน่วยงานที่องค์กรทำได้เพียงชี้นำหรือส่งทอดอิทธิพลเพื่อให้เกิดการดำเนินการโดยสมัครใจ
ตัวอย่างขอบเขตของประเด็นที่องค์กรเลือกมาดำเนินการ อาจจำกัดอยู่เพียงระดับภายในองค์กร (เช่น การต่อต้านการทุจริต) บางประเด็นอาจเกี่ยวข้องเฉพาะหน่วยงานที่อยู่ภายนอกองค์กร (เช่น สิทธิเด็ก) หรือมีบางประเด็นที่ต้องดำเนินการทั้งหน่วยงานที่อยู่ภายในและภายนอกองค์กร (เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจก)
สำหรับข้อพิจารณาที่ใช้ในการระบุประเด็นหรือแง่มุมที่จะดำเนินการ ในมุมมองของผู้มีส่วนได้เสีย ได้แก่ ผลกระทบและความมีนัยสำคัญของประเด็นดังกล่าว ความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียที่มีต่อการดำเนินการ การตอบสนอง และความโปร่งใสตรวจสอบได้ต่อประเด็นดังกล่าว
ส่วนข้อพิจารณาที่ใช้ในการระบุประเด็นหรือแง่มุมที่จะดำเนินการ ในมุมมองของกิจการ ได้แก่ ความน่าจะเป็นและความรุนแรงของประเด็นดังกล่าว ความเสี่ยงหรือโอกาสที่เกิดขึ้นจากประเด็นดังกล่าว ระดับวิกฤตของผลกระทบที่มีต่อการดำเนินงานของกิจการในระยะยาว และโอกาสที่เอื้อต่อกิจการในการเติบโตหรือได้รับประโยชน์จากประเด็นดังกล่าว
ตัวอย่างในเรื่องการมีส่วนร่วมและดูแลผลกระทบชุมชนที่อยู่รอบโรงงาน ทุกบริษัทมีการดำเนินการในเรื่องนี้เหมือนกัน แต่ประเด็นหรือแง่มุมการดำเนินงานอาจมีความแตกต่างกัน บริษัทหนึ่งอาจดำเนินการโดยเน้นดูแลของเสียที่ปล่อยออกมาจากโรงงานมิให้เกินเกณฑ์มาตรฐานจนอาจก่อความเดือดร้อนเสียหายแก่ชุมชน อีกบริษัทหนึ่งอาจดำเนินการโดยเน้นร่วมทำกิจกรรมในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อีกบริษัทหนึ่งอาจดำเนินการโดยเน้นสื่อสารเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น
ตัวอย่างของตัวบ่งชี้ที่สัมพันธ์กับการดำเนินการข้างต้น ได้แก่ การใช้ตัวบ่งชี้ค่ามาตรฐานของเสียที่ปล่อยออกจากโรงงาน หรือตัวบ่งชี้จำนวนกิจกรรมที่โรงงานเข้ามีส่วนร่วมกับชุมชน หรือตัวบ่งชี้ระดับการรับรู้ข่าวสารของชุมชน ตามลำดับ
องค์กรไม่สามารถทำในทุกเรื่องที่เห็นว่าดี แต่สามารถทำบางเรื่องที่เห็นว่าสำคัญให้ดีได้
[Original Link]