เผยดัชนีต้านทุจริตบริษัทไทย
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เผยผลตัวชี้วัดการประเมินความคืบหน้าในเรื่องการต่อต้านการทุจริต (Anti-corruption Progress Indicator) ของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเป็นหนึ่งในการดำเนินงานของ ก.ล.ต. ตามแผนพัฒนาความยั่งยืน ที่เน้นให้บริษัทมีแนวปฏิบัติที่ดี ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมทั้งมีแนวปฏิบัติเพื่อต่อต้านการทุจริตอย่างจริงจัง เป็นต้นแบบให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตาม
จากการประเมินความคืบหน้าในเรื่องการต่อต้านการทุจริตของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด 567 รายพบว่า 344 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 60.67 มีคะแนนอยู่ที่ระดับ 1 ขึ้นไป คือ บริษัทแสดงให้เห็นถึงคำมั่นจากผู้บริหารและขององค์กร ว่ามีนโยบายในการดำเนินธุรกิจที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต ในจำนวนนี้มี 28 บริษัทจดทะเบียน มีคะแนนอยู่ที่ระดับ 4 คือ ได้รับการรับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (ข้อมูล ณ วันที่ 13 ต.ค. 2557)
การประเมินดังกล่าวช่วยให้บริษัทจดทะเบียนทราบถึงระดับการพัฒนาความยั่งยืนของกิจการในด้านที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริต และสามารถนำผลการประเมินมาพิจารณาประกอบการวางกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อป้องกันมิให้บริษัทมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต ส่วนผู้ลงทุนจะได้ทราบความมุ่งมั่นและนโยบายการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตของบริษัท และสามารถหลีกเลี่ยงการลงทุนในบริษัทที่อาจมีความสุ่มเสี่ยงต่อการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต
ปัจจุบัน ยังมีบริษัทที่มิได้เปิดเผยข้อมูลในเรื่องนโยบายการดำเนินธุรกิจของบริษัทและบริษัทย่อยที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต จำนวน 176 บริษัท หรือคิดเป็นร้อยละ31.04 และมีการเปิดเผยเพียงบางส่วน จำนวน 47 บริษัท หรือคิดเป็นร้อยละ 8.29
สำหรับผลการประเมินความคืบหน้าในเรื่องการต่อต้านการทุจริต แบ่งออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ ระดับ 1: มีนโยบาย (Committed) ระดับ 2: ประกาศเจตนารมณ์ (Declared) ระดับ 3: มีมาตรการป้องกัน (Established) ระดับ 4: ได้รับการรับรอง (Certified) และระดับ 5: ขยายผลสู่ผู้ที่เกี่ยวข้อง (Extended)
ข้อมูล Anti-corruption Progress Indicator ที่จัดทำขึ้นนี้ จะช่วยบ่งชี้ความก้าวหน้าและแนวทางการยกระดับให้แก่บริษัทจดทะเบียนในเรื่องการต่อต้านการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม เน้นการนำไปปฏิบัติทั่วทั้งองค์กร ครอบคลุมถึงหุ้นส่วนทางธุรกิจ ที่ปรึกษา ตัวกลาง หรือตัวแทนในการดำเนินธุรกิจของตนเองไม่ให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในทุกรูปแบบ
ทั้งนี้ การต่อต้านการทุจริตให้เป็นผลนั้น ไม่ได้เกิดจากการบอกให้ผู้อื่นเลิกทุจริต แต่เกิดจากการลงมือปฏิบัติโดยเริ่มจากตนเองและองค์กรของตน ให้ปลอดจากการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต เป็นแบบอย่างให้แก่ผู้อื่นได้ปฏิบัติตาม
ผู้ที่สนใจข้อมูลสรุปภาพรวมผลการประเมิน Anti-corruption Progress Indicator หรือต้องการตรวจสอบผลประเมิน Anti-corruption Progress Indicator รายบริษัทจดทะเบียน สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ www.thaicsr.com
[Original Link]