Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

เหลียวหลังแลหน้า CSR ปี 57


ในรอบปี 2557 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป มีเหตุการณ์สำคัญในตลาดทุนที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคมและเรื่องความยั่งยืน เริ่มจากการประกาศหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการรายงานการเปิดเผยข้อมูลตามแบบ 56-1 ที่ได้มีการปรับปรุงใหม่ โดยกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลในหัวข้อความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR เพิ่มเติมเป็นปีแรก ซึ่งมีผลใช้บังคับกับแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) ที่บริษัทจดทะเบียนต้องส่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

สาระสำคัญของข้อมูล CSR ที่ให้เปิดเผยในแบบ 56-1 ประกอบด้วยข้อมูลนโยบายและการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อย ที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืนของกิจการและสังคมโดยรวม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจปกติ (CSR-in-process) และเป็นไปตามนโยบายที่บริษัทได้เปิดเผยไว้ รวมทั้งการดำเนินธุรกิจที่มีผลกระทบต่อความรับผิดชอบต่อสังคม (ถ้ามี)

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูล CSR ตามประกาศดังกล่าว ยังครอบคลุมไปถึงแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบ 69-1) และในรายงานประจำปี (แบบ 56-2) ด้วย

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน คือ การจัดทำการประเมินระดับการพัฒนาความยั่งยืนด้าน CSR และ Anti-corruption สำหรับบริษัทจดทะเบียน ด้วยตัวชี้วัดตั้งแต่ระดับ 0 ถึง ระดับ 5 เป็นครั้งแรกของไทย ตามแผนพัฒนาความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน ของสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนสามารถนำผลการประเมินไปใช้เป็นข้อมูลสำหรับการวางแผนพัฒนาปรับปรุงการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาแนวทางและมาตรการในการสนับสนุนการพัฒนาความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับกรอบหรือมาตรฐานที่เป็นสากล

สอดรับกับเหตุการณ์ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องการพัฒนาความยั่งยืนอีกเช่นกัน ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ลงนามเข้าร่วม Sustainable Stock Exchanges Initiative ซึ่งเป็นความริเริ่มร่วมกันระหว่าง 4 หน่วยงานสำคัญ ได้แก่ หลักการสหประชาชาติว่าด้วยการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ (UNPRI) การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ความริเริ่มด้านการเงินภายใต้สำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP-FI) และข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UNGC) เมื่อเดือนกรกฎาคม ในฐานะตลาดหลักทรัพย์รายแรกในอาเซียนที่ประกาศเดินหน้าเพื่อพัฒนาความยั่งยืนอย่างเป็นทางการ ด้วยเจตนารมณ์ที่จะพัฒนาและส่งเสริมให้องค์กรและผู้เกี่ยวข้องทุกกลุ่มดำเนินงานโดยยึดหลักความยั่งยืน เป็นไปตามหลักบรรษัทภิบาล คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งมุ่งสนับสนุนเรื่องการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนและการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ

พร้อมกับได้อนุมัติกรอบการพัฒนาความยั่งยืนของ ตลท. ใน 5 ด้าน คือ การสร้างคุณค่าตลาดทุน การบริหารจัดการองค์กร การพัฒนาและดูแลพนักงาน การพัฒนาและดูแลสังคม และการจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมในทุกมิติ เพื่อมุ่งพัฒนาให้ตลาดทุน เศรษฐกิจ และสังคมไทย เติบโตอย่างมีคุณภาพ

ความเคลื่อนไหวของ ก.ล.ต. ในฐานะผู้กำกับ และ ตลท. ในฐานะผู้บริหารตลาดทุน ได้ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมอย่างมีนัยสำคัญต่อบริษัทจดทะเบียนทั้ง 600 กว่าแห่ง ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) รวมกันราว 14 ล้านล้านบาท มากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ที่มีมูลค่า 12 ล้านล้านบาท

สำหรับทิศทางความรับผิดชอบต่อสังคมและแนวโน้มด้านความยั่งยืนในปีหน้า นอกจากความตื่นตัวที่เกิดขึ้นในแวดวงตลาดทุนแล้ว การก่อตัวของความเคลื่อนไหวในเรื่องการสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value: CSV) ของภาคธุรกิจเอกชน จะส่งผลให้เกิดแนวทางความร่วมมือของการทำงานในรูปแบบใหม่ระหว่างภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม ในลักษณะที่เอื้อให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจแก่กิจการและสังคมไปพร้อมกัน

การสร้างคุณค่าร่วม ถือเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ใช้ตอบโจทย์ความรับผิดชอบต่อสังคมในบริบทของ CSR-in-process บนฐานคิดแบบระยะยาวที่คำนึงถึงการใช้สินทรัพย์และความเชี่ยวชาญหลักของกิจการ สร้างประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นและสังคมให้เกิดเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน พร้อมกันกับแก้โจทย์ความไม่เชื่อมโยงกันระหว่างความต้องการของสังคมและของธุรกิจ ซึ่งเป็นอุปสรรคและก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เดือนมกราคมนี้ สถาบันไทยพัฒน์จะนำเสนอแนวโน้มในแนวทางดังกล่าวนี้อย่างละเอียด รวมทั้งการเปิดเผยถึงทิศทาง CSR & Sustainability ปี 2558 ท่ามกลางความคาดหวังของสังคมไทยที่มีต่อการปฏิรูป การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เดินหน้าได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน โดยเฉพาะบทบาทขององค์กรธุรกิจที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของภาคเศรษฐกิจ


[Original Link]