ทิศทาง CSR ในตลาดทุน
ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) นับเป็นเรื่องที่ภาคธุรกิจไม่สามารถละเลยที่จะไม่ให้ความสนใจ เนื่องเพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่เกื้อหนุนการดำเนินธุรกิจให้เป็นที่ยอมรับของสังคม และกับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ที่กิจการเข้าไปเกี่ยวข้อง และได้มีการขยายความเพิ่มเติมในระยะหลังว่า ความสำเร็จจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นกุญแจที่เปิดทางไปสู่การพัฒนาความยั่งยืน (Sustainability) ให้แก่กิจการและสังคมโดยรวม
ทำให้ความต้องการในข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงข้อมูลทางการเงิน (ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงผลประกอบการในอดีต) ผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ รวมทั้งผู้ลงทุน ได้ให้ความสำคัญกับข้อมูลที่มิใช่ตัวเลขทางการเงินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คำว่า ESG ซึ่งย่อมาจาก Environmental, Social, and Governance จึงเกิดขึ้นในแวดวงตลาดทุน เพื่ออธิบายถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับกิจการและการดำเนินงานของกิจการ
Financial Times ได้บัญญัติความหมายของ ESG ว่า เป็นคำที่ใช้ในตลาดทุน ที่ผู้ลงทุนใช้ประเมินการดำเนินงานของกิจการ เพื่อให้ล่วงรู้ถึงผลประกอบการในอนาคตของกิจการ ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการประกอบการดังกล่าวนี้ มาจากบทบาทของบริษัทที่มีต่อเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ เรื่องความยั่งยืน หรือที่มักอ้างอิงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนในสามด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อมนั่นเอง
สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปจากนี้ คือ การพัฒนาในฝั่งของผู้ลงทุนต่อการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบที่มีการพิจารณาถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดี คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะผู้ลงทุนประเภทสถาบัน หรือผู้จัดการลงทุนซึ่งทำหน้าที่ดูแลการลงทุนให้แก่ผู้ลงทุน จำเป็นต้องมีแนวปฏิบัติสำหรับการลงทุนที่ดี ใช้ข้อมูลการดำเนินงานในประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG ที่กิจการเปิดเผย ประกอบการตัดสินใจลงทุนอย่างรอบด้าน
สำหรับในฝั่งของกิจการที่ต้องการได้รับเม็ดเงินลงทุนเพื่อสร้างความแข็งแกร่งและการเติบโตของธุรกิจจากผู้ลงทุน หากกิจการมีการขับเคลื่อน CSR-in-process หรือมีความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการหลักทางธุรกิจที่ดีอยู่แล้ว อาจไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการอะไรใหม่ หรือทำเพิ่มเติมจากที่เป็นอยู่ เพราะสิ่งที่ดำเนินการอยู่ เข้าเกณฑ์ ESG ที่ผู้ลงทุนใช้พิจารณาเข้าลงทุนในกิจการอยู่แล้ว ส่วนจะลงทุนมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับที่ผู้ลงทุนจะ Benchmark การดำเนินงานตามเกณฑ์ ESG ของกิจการ เทียบกับองค์กรอื่นที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเข้าลงทุน
ส่วนกิจการที่มีการขับเคลื่อนเรื่อง CSR-in-process ยังไม่เด่นชัดนัก อาจจะต้องดำเนินการปรับปรุงพัฒนาในส่วนนี้เพิ่มเติม เพื่อให้เข้าเกณฑ์ ESG เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ลงทุนที่ใช้เกณฑ์ ESG จะให้ความสำคัญกับ CSR-in-process ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับความเสี่ยงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกิจการ และกับผลประกอบการของกิจการ มากกว่า CSR-after-process ในลักษณะกิจกรรมเพื่อสังคมซึ่งแยกต่างหากจากกระบวนการหลักทางธุรกิจ และไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับผลประกอบการของกิจการเท่าใดนัก
ตลาดหลักทรัพย์และหน่วยงานกำกับหลักทรัพย์ในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ต่างออกมาตรการในการส่งเสริมให้กิจการที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ดำเนินการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนให้ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีมาตรการในการสนับสนุนให้ผู้ลงทุนใช้ข้อมูล ESG ประกอบการตัดสินใจลงทุน เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุนในบริษัทที่ขาดธรรมาภิบาล ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม และสร้างผลกระทบเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลต่อความยั่งยืนและผลประกอบการในระยะยาวของกิจการ
ในปี 2558 เป็นที่คาดหมายว่า จะเห็นการเกิดขึ้นของดัชนีที่ให้ข้อมูลด้าน ESG ในประเทศไทย และบรรดากลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ จะให้ความสำคัญกับการออกบทวิเคราะห์ที่ให้ข้อมูลด้าน ESG แก่ผู้ลงทุนเพิ่มเติมจากเดิม ทำให้อุปสงค์ของรายงานแห่งความยั่งยืนและการเปิดเผยข้อมูลความรับผิดชอบต่อสังคมของหลักทรัพย์จดทะเบียน เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
จากวลีที่ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน” ในไม่ช้าอาจจะพัฒนามาสู่ “การลงทุนเป็นโอกาส ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูล ESG ก่อนการตัดสินใจลงทุน”
[Original Link]