Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ก้าวสู่ยุค SDGs

วีรญา ปรียาพันธ์

เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ หรือ Millennium Development Goals (MDGs) ที่ 189 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทย ได้ตกลงร่วมกันให้เป็นวาระการพัฒนาของโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 อันประกอบด้วยเป้าหมายหลัก 8 ข้อ ได้แก่ (1) ขจัดความยากจนและความหิวโหย (2) ให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษา (3) ส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศและบทบาทสตรี (4) ลดอัตราการตายของเด็ก (5) พัฒนาสุขภาพของสตรีมีครรภ์ (6) ต่อสู้กับโรคเอดส์ มาลาเรีย และโรคสำคัญอื่น ๆ (7) รักษาและจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (8) ส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในประชาคมโลก ซึ่งถูกใช้ในช่วง 15 ปีมานี้ กำลังจะสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2558

ในปีนี้สหประชาชาติจะประกาศเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) โดยเปลี่ยนจากกรอบคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนแบบ 3 เสาหลัก (Pillars) มาสู่กรอบคิดใหม่ที่มองการพัฒนาเป็นมิติ (Dimensions) เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้มีความเชื่อมโยงกัน เพื่อลดข้อจำกัดของการส่งเสริมการพัฒนาในแบบแยกส่วนที่ได้รับอิทธิพลจากกรอบความคิดแบบเสาหลัก


กิจการที่อ้างอิงการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเข็มทิศในการขับเคลื่อนธุรกิจสามารถนำองค์ประกอบของกรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนฉบับใหม่ มาเป็นแนวทางในการปรับวาระการดำเนินงานขององค์กรให้เข้ากับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 17 หัวเรื่อง ได้แก่ (1) ความยากจน (2) ความหิวโหย (3) สุขภาวะ (4) การศึกษา (5) ความเท่าเทียมทางเพศ (6) น้ำและการสุขาภิบาล (7) พลังงาน (8) เศรษฐกิจและการจ้างงาน (9) โครงสร้างพื้นฐานและการปรับให้เป็นอุตสาหกรรม (10) ความเหลื่อมล้ำ (11) เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ (12) แบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (13) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ (14) ทรัพยากรทางทะเล (15) ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ (16) สังคมและความยุติธรรม (17) หุ้นส่วนความร่วมมือและการปฏิบัติให้เกิดผล ซึ่งเสนอโดยคณะทำงานของสหประชาชาติว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Open Working Group on SDGs) และกำลังจะเริ่มต้นใช้ในไม่ช้านี้จวบจนปี พ.ศ. 2573 ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปี

สำหรับธุรกิจทั่วไปที่ยังมิได้เข้าสู่สนามการแข่งขันในระดับโลกหรือในระดับภูมิภาค เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้ สามารถใช้เป็นข้อมูลนำเข้าสำหรับการวางกลยุทธ์การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม ในภาคปฏิบัติขององค์กรให้มีความสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาในระดับมหภาคได้เช่นกัน

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ
เสนอโดยคณะทำงานของสหประชาชาติว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
เป้าหมายที่ 1ขจัดความยากจนในทุกรูปแบบ ทุกที่
เป้าหมายที่ 2ขจัดความหิวโหย บรรลุเป้าความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการที่ดีขึ้น และส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน
เป้าหมายที่ 3ทำให้แน่ใจถึงการมีสุขภาวะในการดำรงชีวิต และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในทุกช่วงอายุ
เป้าหมายที่ 4ทำให้แน่ใจถึงการได้รับการศึกษาที่ได้คุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง และส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน
เป้าหมายที่ 5บรรลุถึงความเท่าเทียมทางเพศ และเสริมสร้างพลังให้แก่สตรีและเด็กหญิงทุกคน
เป้าหมายที่ 6ทำให้แน่ใจว่าเรื่องน้ำและการสุขาภิบาลได้รับการจัดการอย่างยั่งยืน และมีสภาพพร้อมใช้สำหรับทุกคน
เป้าหมายที่ 7ทำให้แน่ใจว่าทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานที่ทันสมัย ยั่งยืน เชื่อถือได้ ตามกำลังซื้อของตน
เป้าหมายที่ 8ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและทั่วถึงให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ส่งเสริมศักยภาพการมีงานทำและการจ้างงานเต็มที่ และงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน
เป้าหมายที่ 9พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการปรับตัวให้เป็นอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและทั่วถึง และสนับสนุนนวัตกรรม
เป้าหมายที่ 10ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ
เป้าหมายที่ 11ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย ทั่วถึง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน
เป้าหมายที่ 12ทำให้แน่ใจถึงการมีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
เป้าหมายที่ 13ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น
เป้าหมายที่ 14อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้เป็นไปอย่างยั่งยืน
เป้าหมายที่ 15พิทักษ์ บูรณะ และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนของระบบนิเวศบนบก จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้กับการแปรสภาพเป็นทะเลทราย หยุดยั้งและฟื้นฟูความเสื่อมโทรมของที่ดิน และหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
เป้าหมายที่ 16ส่งเสริมให้สังคมมีความเป็นปกติสุข ไม่แบ่งแยก เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มีการเข้าถึงความยุติธรรมโดยถ้วนหน้า และสร้างให้เกิดสถาบันอันเป็นที่พึ่งของส่วนรวม มีประสิทธิผล และเป็นที่ยอมรับในทุกระดับ
เป้าหมายที่ 17เสริมสร้างความเข้มแข็งในวิธีการปฏิบัติให้เกิดผล และสร้างพลังแห่งการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระดับสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน



[Original Link]