กิจการวิถียั่งยืน
แต่ไหนแต่ไรมา องค์กรธุรกิจที่ตั้งขึ้นและอยู่รอดได้ในตลาดในช่วงตั้งต้น ล้วนมองไปข้างหน้า ด้วยการให้ความสำคัญกับการขยายกิจการให้เติบโต ซึ่งถือเป็นวัฏจักรปกติของธุรกิจ แต่สภาพการณ์แวดล้อมในยุคที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น ไม่ได้ขยายตัวมากและต่อเนื่องเช่นในอดีต วัฏจักรในช่วงที่แต่ละธุรกิจเพลิดเพลินอยู่กับการเติบโต ดูจะไม่ร้อนแรงและมีระยะเวลาที่สั้นลงตามไปด้วย
การใช้กลยุทธ์มุ่งการเติบโต (Growth) ไม่สามารถรับประกันได้ว่า เพียงพอต่อการนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จ เพราะในความเป็นจริง องค์กรไม่สามารถจะรักษาอัตราการเติบโตหรือการขยายตัวของกิจการได้ตลอด โดยเป็นไปตามวัฏจักรชีวิตที่มีรูปร่างเป็น S-Curve (ก่อตั้ง-เติบโต-อิ่มตัว-เสื่อมถอย) แม้กิจการจะพยายามสร้าง S-Curve ใหม่ขึ้นทดแทน แต่ก็ไม่จีรังอยู่ได้ตลอดรอดฝั่ง ในโลกธุรกิจ จึงเห็นการแปรเปลี่ยนทั้งการควบรวมกิจการ การขายกิจการ และการยุบหรือเลิกกิจการ
การบริหารกิจการให้ยั่งยืน หรือการทำให้กิจการมีความยั่งยืน ไม่ให้ล้มหายไปจากตลาด จึงเป็นทักษะที่ผู้ประกอบการสมัยใหม่ต่างแสวงหาและต้องการได้มาใช้ขับเคลื่อนธุรกิจ กลยุทธ์มุ่งความยั่งยืน (Sustainability) จึงกลายเป็นทางเลือกที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยแนวคิดที่ไม่ได้เน้นการสร้าง S-Curve ใหม่ แต่ใช้วิธีการที่ทำให้ S-Curve ที่มีอยู่ขยายยืดออกไปให้ยาวที่สุด โดยเฉพาะในช่วงท้ายของการเติบโตและในช่วงอิ่มตัว โดยเป็นคนละเรื่องกับความพยายามในการจับเอาความยั่งยืนมาใส่ในกลยุทธ์การเติบโต กลายเป็น กลยุทธ์การเติบโตอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Growth ซึ่งฟังแล้วดูดี แต่อยู่เหนือวิสัยในทางปฏิบัติ
สิ่งที่ธุรกิจต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ คือ ปัจจัยแห่งการเติบโต ซึ่งหมายถึง ทรัพยากรที่ใส่เข้ามาเพื่อสนับสนุนกลยุทธ์มุ่งการเติบโตนั้น มีความแตกต่างจาก ทรัพยากรที่ใช้เพื่อสนับสนุนกลยุทธ์มุ่งความยั่งยืน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ปัจจัยแห่งความยั่งยืน อาจไม่ใช่ทรัพยากรประเภทเดียวกันกับที่ใช้ในการสร้างกิจการให้เติบโต
มีหลายองค์กรธุรกิจที่ได้นำปัจจัยแห่งความยั่งยืน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการคำนึงถึงประเด็นทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่มีความเกี่ยวโยงกันและส่งผลต่อความเป็นไปของกิจการ มาออกแบบและปรับแต่งโมเดลทางธุรกิจ วางกลยุทธ์มุ่งความยั่งยืน พร้อมกับพัฒนาแนวทางในการสื่อสารเรื่องความยั่งยืน เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกองค์กรได้รับทราบถึงทิศทางขององค์กร และตอบสนองต่อความจำกัดของกลยุทธ์มุ่งการเติบโตที่ไม่อาจใช้เป็นกลยุทธ์หลักเดียวของธุรกิจได้อีกต่อไป
การกำกับดูแลกิจการที่คณะกรรมการบริษัทคุ้นเคยกับการให้ความเห็นชอบในกลยุทธ์มุ่งการเติบโตของหลายกิจการ ในห้วงเวลาที่ผ่านมา กำลังเปลี่ยนจุดโฟกัสมาสู่การให้ความเห็นชอบในกลยุทธ์มุ่งความยั่งยืน ทั้งนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพของกิจการและความมั่งคั่งให้แก่ผู้ถือหุ้น โดยคำนึงถึงความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ที่มีส่วนสร้างทั้งแรงหนุนและแรงต้านแก่องค์กร
กิจการที่เข้าใจบริบทของความยั่งยืนอย่างรอบด้าน สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่า การวางกลยุทธ์มุ่งความยั่งยืนที่มักอ้างอิงด้วยคำว่า ESG (Environmental, Social and Governance) เป็นการดำเนินงานที่ตอบสนองต่อมิติทางธุรกิจ มิใช่เรื่องที่แปลกแยกไปจากการดำเนินธุรกิจ และมิได้เป็นภาระหรือค่าใช้จ่ายขององค์กร แต่กลับเป็นปัจจัยที่เสริมหนุนขีดความสามารถทางการแข่งขัน และการได้มาซึ่งกำไรที่มั่นคง
กิจการที่ก้าวมาสู่ขั้นนี้ได้ มักจะมีเข็มทิศการดำเนินงานในเรื่องธุรกิจกับเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม ชี้ไปในทิศทางเดียวกัน การพิจารณาดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กรเหล่านี้ จึงผสมผสานกลมกลืนกับการดำเนินธุรกิจได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน โดยมิได้ถูกปฏิเสธจากผู้ถือหุ้นด้วย
เจ้าของกิจการในวิถียั่งยืนเท่านั้น ที่จะเข้าใจว่า “ธุรกิจต้องเป็นส่วนหนึ่งของสังคม มิใช่แยกส่วนจากสังคม” (Business must be a part of society, not apart from society)
[Original Link]