การให้ไม่รู้จบ
สัปดาห์ที่ผ่านมา (18 มิ.ย.) สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการเปิดแนวคิด “การลงทุนสุนทาน” หรือ “Philanthropic Investments” เพื่อใช้เป็นทางเลือกในการทำ CSR อย่างยั่งยืน โดยเป็นรูปแบบที่องค์กรผู้ให้ความช่วยเหลือที่สามารถให้ทุนโดยไม่สูญเงินต้น ขณะที่ชุมชนหรือหน่วยงานที่ได้รับความช่วยเหลือ มีทุนหรือทรัพยากรที่จะใช้ดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง ตราบจนโครงการหรือภารกิจบรรลุผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
การให้ความช่วยเหลือในบริบทของ CSR ที่ผ่านมา มักเป็นการบริจาคเพื่อการกุศลในรูปของการให้เงินหรือวัตถุสิ่งของ (Philanthropy) ซึ่งถือเป็นจุดนำเข้าในกระบวนการทำงานร่วมกับชุมชนหรือผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มเป้าหมาย แต่การให้เปล่าในรูปแบบดังกล่าว มีข้อจำกัดตรงที่ องค์กรผู้ให้ความช่วยเหลือ ทำได้เป็นครั้งคราวหรือในชั่วระยะเวลาหนึ่ง ไม่สามารถจัดสรรงบประมาณเพื่อให้ความช่วยเหลือได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว
เมื่อเงินบริจาคก้อนดังกล่าว ถูกใช้หมดไป ชุมชนหรือหน่วยงานภาคประชาสังคมที่ได้รับความช่วยเหลือ จำต้องขวนขวายหาทุนหรือทรัพยากรมาเติมในโครงการหรือภารกิจที่ริเริ่มขึ้น เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องจนเห็นผล แต่หากการเติมทุนหรือเงินบริจาคก้อนใหม่ไม่เกิดขึ้น โครงการหรือภารกิจดังกล่าว อาจต้องระงับหรือหยุดชะงักไปโดยปริยาย
แนวคิดของการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบการลงทุนที่นำดอกผลมาใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือ “Philanthropic Investments” ที่สถาบันไทยพัฒน์ เรียกว่า “การลงทุนสุนทาน” สามารถใช้ขจัดหรือลดทอนอุปสรรคหรือข้อจำกัดดังกล่าว เพื่อให้ชุมชนหรือหน่วยงานภาคประชาสังคมสามารถได้รับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องในระยะยาว จนโครงการหรือภารกิจบรรลุผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ที่ผ่านมา ธุรกิจโดยปกติ สามารถดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการ (CSR-in-process) และนอกกระบวนการ (CSR-after-process) ถือเป็นเรื่องของการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ ขณะที่ การลงทุนสุนทาน ไม่ใช่การดำเนินธุรกิจขององค์กรโดยตรง แต่เป็นการนำทรัพยากรที่เป็นตัวเงินมาลงทุน (โดยองค์กรยังเป็นเจ้าของเงินลงทุน) เพื่อหาดอกผลไปทำ CSR อีกต่อหนึ่ง เรียกว่าเป็น CSR-along-process คือ เป็น CSR ใน “หมวกของการลงทุน” ที่เดินเคียงคู่ไปกับ “หมวกของการทำธุรกิจ” อย่างรับผิดชอบ
การลงทุนสุนทาน ถือเป็นการลงทุนประเภทหนึ่ง ซึ่งย่อมมีความเสี่ยง แต่องค์กรธุรกิจสามารถใช้ที่ปรึกษาการเงินหรือบริษัทจัดการกองทุน ดูแลบริหารเม็ดเงินลงทุนให้ และในกรณีของการลงทุนสุนทานที่สถาบันไทยพัฒน์ริเริ่มขึ้น ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการประกาศหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้าน สิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) จำนวน 100 บริษัท หรือที่เรียกว่า กลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา สำหรับรองรับความต้องการในรูปแบบของการลงทุนที่ยั่งยืน พร้อมกับการสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่มิได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป
เพื่อให้เห็นภาพความแตกต่างระหว่างการให้ความช่วยเหลือในแบบ Philanthropy กับการลงทุนในแบบ Philanthropic Investments สมมุติว่า กิจการ ก. และ ข. มีเงินงบประมาณ 10 ล้านบาทตั้งต้นเท่ากัน กิจการ ก. ใช้จัดสรรเป็นความช่วยเหลือแบบให้เปล่า (Philanthropy) ปีละ 2 ล้านบาท กิจการ ก. สามารถดำเนินการได้ 5 ปี และสิ้นสุดความช่วยเหลือ
ส่วนกิจการ ข. ใช้รูปแบบการลงทุนสุนทาน สร้างผลตอบแทนในอัตราร้อยละ 20 ต่อปี กิจการ ข. สามารถใช้ดอกผลในการจัดสรรความช่วยเหลือปีละ 2 ล้านบาท ได้ไม่จำกัดเพียง 5 ปี แต่ยังคงความช่วยเหลือได้ในปีต่อๆ ไป ไม่มีที่สิ้นสุด ในขณะที่เงินทุนตั้งต้น 10 ล้านบาทของกิจการ ข. ก็ยังคงอยู่ (ดังภาพประกอบ)
อนึ่ง การลงทุนสุนทานตามตัวอย่างข้างต้น ให้น้ำหนักกับการบริหารเงินต้นเพื่อให้คงอยู่ พร้อมกับหาดอกผลที่เพียงพอเพื่อทำสาธารณประโยชน์ ด้วยการลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีการเปิดเผยข้อมูลตามข้อกำหนดของสำนักงาน ก.ล.ต. และมีการดำเนินงานที่โดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล (ESG) ในบริบทของ CSR-in-process มิใช่การลงทุนในวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) ที่ตั้งขึ้นใหม่ หรือเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ไม่มีวัตถุประสงค์หากำไร ในบริบทของ CSR-as-process
หน่วยงานภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่ต้องการยกระดับจาก Philanthropy ในรูปแบบเดิม มาสู่ Philanthropic Investments สามารถติดต่อสถาบันไทยพัฒน์ หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ http://thaipat.org ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
[กรุงเทพธุรกิจ]