Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ปัญหาทุจริตในภาคธุรกิจ ไม่ใช่เรื่องเล็ก


เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (20 ต.ค.) เครือข่ายหุ้นส่วนต้านทุจริตเพื่อประเทศไทย (PACT) ร่วมกับชมรมวาณิชธนกิจ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย และ ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) หรือ PwC ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการแนวทางการต้านทุจริตสำหรับองค์กรธุรกิจขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมจากองค์กรธุรกิจที่สนใจจำนวน 68 บริษัท

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทุจริต เป็นปัญหาระดับชาติ ที่ทุกภาคส่วนในสังคมต่างรับรู้และเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน และได้กลายเป็นปัญหาหลักในการประกอบธุรกิจของบริษัทไทย โดยผลสำรวจของเวิลด์อีโคโนมิกฟอรั่ม ในรายงานขีดความสามารถในการแข่งขันสากล ปี พ.ศ.2557-2558 ระบุว่า ปัจจัยที่เป็นปัญหาสูงสุดของการทำธุรกิจในประเทศไทย คือ ปัญหาการทุจริค โดยมีอัตราสูงถึงร้อยละ 21.4

มูลค่าการทุจริตที่เกิดระหว่างองค์กรธุรกิจในภาคเอกชนด้วยกันเอง อาจสูงกว่ายอดทุจริตที่ให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐหลายเท่าตัว มีความยากต่อการเก็บตัวเลข เนื่องจากเป็นธุรกรรมที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาษีอากรของประชาชนโดยตรง จึงไม่ได้รับการตรวจสอบเช่นกรณีที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานของรัฐ ทำให้ไม่มีใครทราบสถานะที่เป็นจริง ยิ่งตัวเลขดังกล่าวสูงเท่าใด ต้นทุนการทุจริตที่ถูกผลักเป็นภาระแฝงในค่าสินค้าและบริการก็สูงขึ้นในจำนวนที่เท่ากัน ทั้งเจ้าของกิจการ ผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร และพนักงานในภาคเอกชน ซึ่งต่างเป็นผู้บริโภคในระบบ ก็ต้องรับภาระต้นทุนที่เกิดจากการทุจริตกันอย่างถ้วนหน้า

จากการสำรวจอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ Thailand Economic Crime Survey ประจำปี 2557 โดย PwC พบว่า ร้อยละ 89 ของการทุจริตเกิดขึ้นจากการกระทำของคนในองค์กร ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับระดับเอเชียแปซิฟิกที่ร้อยละ 61 และระดับโลกที่ร้อยละ 56

ปัญหาการทุจริตในองค์กร กลายเป็นอุปสรรคที่บั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในภูมิภาค ซึ่งนอกจากการทุจริตจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคเศรษฐกิจและการเงินแล้ว ปัญหาดังกล่าวยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อชื่อเสียง คุณภาพของสินค้าและบริการ รวมถึงขวัญและกำลังใจในการทำงานของพนักงานในองค์กรด้วย

โดยเฉพาะการทุจริตที่เกิดขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ในอุตสาหกรรมภาคการผลิต สามารถส่งผลกระทบไปทั้งซัพพลายเชน ปัญหาจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น หากบุคลากรภายในองค์กร เช่น ผู้จัดการแผนกจัดซื้อ หรือฝ่ายควบคุมคุณภาพ มีส่วนรู้เห็นหรือร่วมในการฉ้อโกงด้วย

เมื่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่จัดหาไม่ได้คุณภาพ อันเนื่องมาจากการทุจริต ปัญหาที่เกิดขึ้นติดตามมา มีตั้งแต่ความปลอดภัย การเรียกคืนสินค้า ชื่อเสียงและภาพลักษณ์องค์กร หรือความเสี่ยงอื่นๆ ที่ไม่สามารถคาดเดาได้

การทุจริตเปรียบเหมือนโรคระบาดที่ติดต่อกันง่าย สามารถเกิดขึ้นได้แม้กระทั่งในองค์กรที่มีการป้องกันอย่างรัดกุม เนื่องจากอาชญากรทางเศรษฐกิจใช้เทคนิคการทุจริตใหม่ๆ ตลอดเวลา องค์กรจึงจำเป็นต้องมีกระบวนการป้องกัน เฝ้าระวัง ตรวจสอบ ควบคุม และติดตามกรณีทุจริตอย่างรอบด้าน มีความทันสมัยและทันต่อเหตุทุจริตที่อาจเกิดขึ้น

หลักสูตรต้านทุจริตที่สามองค์กรร่วมกันจัดทำขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในแนวทางการต้านทุจริตสำหรับองค์กรธุรกิจและการดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกัน มิให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทและบริษัทย่อยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต พร้อมทั้งกรณีศึกษา อันจะนำไปสู่การยกระดับการดำเนินการเพื่อความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนไทย

เนื้อหาในหลักสูตร ประกอบด้วย ความหมายและความสำคัญของการต่อต้านการทุจริต กระบวนงานในการต่อต้านการทุจริตสำหรับองค์กรธุรกิจ การวางกระบวนงานภายในองค์กรเพื่อยกระดับความคืบหน้าในการต่อต้านการทุจริต และวิธีการรายงานการเปิดเผยข้อมูลในแบบแสดงรายการข้อมูล 56-1, 56-2 และ 69-1 เป็นต้น โดยเป็นหลักสูตรเต็มวัน และไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

ผลตอบรับจากผู้เข้าอบรมในหลักสูตร เห็นว่า การอบรมดังกล่าวมีประโยชน์ต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในระดับมาก ที่อัตราร้อยละ 79 และระดับปานกลางที่ร้อยละ 21

นับเป็นก้าวสำคัญที่หน่วยงานภาคเอกชนทั้ง 68 แห่งนี้ ได้เข้าร่วมและเปลี่ยนเรียนรู้ถึงวิธีป้องกัน ตรวจสอบ ฟื้นฟู และตอบสนองต่อเหตุทุจริต ตามหลักการและแนวปฏิบัติในการต้านทุจริตที่เป็นสากล ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการวางนโยบายและการควบคุมภายในให้สอดคล้องเหมาะสมกับแต่ละองค์กรต่อไป


[Original Link]