Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

หนังสือ “Creating Social Business: สร้างธุรกิจเพื่อสังคม”


บทบาทของภาคธุรกิจ ในการร่วมพัฒนาและแก้ไขปัญหาสังคม ได้วัฒนาการขึ้นในหลายรูปแบบ จากขั้นพื้นฐานที่ธุรกิจซึ่งมีวัตถุประสงค์มุ่งกำไรเป็นหลัก ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และเจียดกำไรส่วนหนึ่งมาตอบแทนคืนกลับสังคม (CSR-after-process) ขยับมาเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อขจัดหรือลดผลกระทบทางลบต่อผู้มีส่วนได้เสียอันเกิดจากการประกอบธุรกิจ ที่มากกว่าการคำนึงถึงเพียงการปฏิบัติตามกฎหมาย (CSR-in-process)

สำหรับกิจการที่ผ่านระยะของการบริหารจัดการผลกระทบเชิงลบจนอยู่ตัวแล้ว จะมีการพิจารณาใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์และความเชี่ยวชาญที่มีในธุรกิจ ดำเนินการส่งมอบคุณค่าหรือผลกระทบเชิงบวกให้แก่สังคมควบคู่ไปพร้อมกัน (CSV)

จนกระทั่งมาสู่รูปแบบที่ใช้ประโยชน์จากการประกอบธุรกิจให้เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปัญหาสังคมเป็นหลัก ซึ่งถูกจัดรวมอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า ผู้ประกอบการสังคม (Social Entrepreneur) ด้วยรูปแบบแยกย่อยในชื่อเรียกและคุณลักษณะที่ต่างกัน เช่น วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Business) ฯลฯ

ในต่างประเทศ การประกอบธุรกิจเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมมีความเคลื่อนไหวที่ก่อตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการสำรวจตัวเลขการลงทุนในกิจการที่จัดอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการสังคมของ Global Sustainable Investment Alliance (GSIA) เมื่อปี 2557 ระบุว่า มีเม็ดเงินที่ลงทุนในกิจการที่จัดอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการสังคม กระจายอยู่ทั่วโลกราว 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 จากการสำรวจในปี 2555

ในสหภาพยุโรป มีผู้ประกอบการสังคม อยู่จำนวน 2 ล้านราย ที่สร้างให้เกิดงาน 11 ล้านตำแหน่ง และในทุกๆ 4 รายของผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่เกิดขึ้น หนึ่งในนั้นจะเป็นผู้ประกอบการสังคม โดยเมื่อปี 2554 คณะกรรมาธิการยุโรป ได้ก่อตั้ง Social Business Initiative ขึ้นเพื่อพัฒนาภาคส่วนที่เป็นผู้ประกอบการสังคม ซึ่งมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมคิดเป็นร้อยละ 10 ของจีดีพีในสหภาพยุโรป

ปัจจุบัน หลายประเทศได้มีการพัฒนารูปแบบของกิจการเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม ในหลายรูปแบบ อาทิ Community Interest Company (CIC), Benefit Corporation (B-Corp), Low-profit Limited Liability Company (L3C), Social Purpose Corporation (SPC), Flexible Purpose Corporation (FPC)

ในประเทศไทย เป็นที่คาดหมายว่า จะมีการนำแนวคิด Social Business ตามนิยามของยูนุส คือ เป็นธุรกิจที่ไม่สูญเงินต้น-ไม่ปันผลกำไร (non-loss, non-dividend) มาใช้เป็นกลไกในการช่วยเหลือผู้ยากไร้และผู้ด้อยโอกาส รวมถึงใช้เป็นเครื่องมือในการขจัดปัญหาความยากจน การว่างงาน และก๊าซเรือนกระจก ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นับจากนี้เป็นต้นไป

สถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดทำหนังสือชื่อ “Creating Social Business: สร้างธุรกิจเพื่อสังคม” ความหนา 36 หน้า เพื่อเป็นตัวช่วยให้ผู้ประกอบการและองค์กรธุรกิจทำความเข้าใจรูปแบบของธุรกิจเพื่อสังคมตามแนวทางของยูนุส เจ้าของแนวคิด Social Business ฉบับต้นตำรับ พร้อมตัวอย่างของธุรกิจเพื่อสังคม จำนวน 10 กิจการ ที่เกิดขึ้นในบังกลาเทศ จากการเข้าร่วมดำเนินงานของกิจการกรามีนที่ยูนุสเป็นผู้บุกเบิกขึ้น

หน่วยงานที่สนใจหนังสือเล่มนี้ สามารถติดต่อขอรับได้ที่สถาบันไทยพัฒน์ โดยแจ้งความประสงค์ทางอีเมล info@thaipat.org พร้อมระบุจำนวนเล่มและที่อยู่ในการจัดส่ง ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

 


ดาวน์โหลดหนังสือ: "Creating Social Business: สร้างธุรกิจเพื่อสังคม"