Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ลงทุนแบบ ESG ดูอะไรกัน


การลงทุนในหลักทรัพย์หรือตราสารทุน โดยหลักแล้ว ผู้ลงทุนพึงต้องการผลตอบแทนที่น่าพอใจ ข้อมูลตัวเลขทางการเงินที่แสดงผลประกอบการ จึงเป็นข้อมูลในส่วนแรกที่ผู้ลงทุนประเภทซึ่งมิใช่นักเก็งกำไรรายวัน นำมาวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจลงทุน โดยมีข้อมูลในส่วนถัดไปที่เป็นการประเมินปัจจัยพื้นฐานของกิจการ สภาพแวดล้อมอุตสาหกรรม โอกาสในตลาด ขีดความสามารถในการแข่งขัน ฯลฯ ตามมาเป็นลำดับ

ปัจจุบัน ข้อมูลที่มิใช่ตัวเลขทางการเงิน อีกส่วนหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาวิเคราะห์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในวิถียั่งยืน (Sustainable Investing) ได้แก่ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล หรือ Environmental, Social, and Governance (ESG)

ข้อมูล ESG ที่นำมาวิเคราะห์ประกอบการตัดสินใจลงทุนในยุคแรกเริ่ม จะเป็นประเด็น (Issues) ที่ใช้ได้กับบรรดาบริษัทที่เป็นเป้าหมายการลงทุนโดยไม่ได้จำกัดกลุ่มอุตสาหกรรมหรือหมวดธุรกิจ

ตัวอย่างของประเด็น ESG ที่คณะทำงานด้านความยั่งยืนแห่งสมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์โลก (World Federation of Exchanges: WFE) ได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางการในการใช้วิเคราะห์ประเมิน มีจำนวน 33 ตัวชี้วัด

ด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย ยอดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อม ค่าดัชนีการเกิดคาร์บอน ยอดการใช้พลังงานทั้งทางตรงและทางอ้อม ความเข้มข้นของการใช้พลังงาน การจัดการน้ำและของเสีย นโยบายและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ด้านสังคม ประกอบด้วย อัตราส่วนค่าตอบแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อัตราส่วนค่าตอบแทนในมิติหญิงชาย อัตราการออกจากงาน ความหลากหลายในมิติหญิงชาย อัตราการจ้างงานชั่วคราว การไม่เลือกปฏิบัติ อัตราการบาดเจ็บ สุขภาพในบริบทโลก แรงงานบังคับและแรงงานเด็ก นโยบายและการละเมิดด้านสิทธิมนุษยชน ความหลากหลายในโครงสร้างของคณะกรรมการบริษัท เป็นต้น

ด้านธรรมาภิบาล ประกอบด้วย การแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท การออกเสียงลงคะแนนลับ การจ่ายค่าตอบแทนแบบจูงใจ การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม จรรยาบรรณต่อคู่ค้า ประมวลจริยธรรม หลักปฏิบัติในการต่อต้านทุจริตและการติดสินบน ความโปร่งใสทางภาษี เป็นต้น (ข้อมูลเพิ่มเติม: www.world-exchanges.org)

แต่เนื่องจากธุรกิจแต่ละประเภท จะมีระดับความเกี่ยวข้องในประเด็น ESG ที่แตกต่างกัน ทำให้การวิเคราะห์ข้อมูล ESG ในยุคต่อมา จำเป็นต้องระบุชุดประเด็นที่เป็นสาระสำคัญ (Material Issues) สำหรับธุรกิจนั้นๆ ให้ได้ เพื่อให้การวิเคราะห์มีความแม่นยำและสะท้อนผลกระทบที่มีนัยสำคัญจากการดำเนินงานในประเด็น ESG รายสาขาเหล่านั้น

ตัวอย่างของการจัดทำประเด็นจำเพาะรายสาขาของคณะกรรมการว่าด้วยมาตรฐานทางบัญชีความยั่งยืน (Sustainability Accounting Standards Board: SASB) ได้มีการจำแนกออกเป็น 79 อุตสาหกรรมใน 10 สาขา

สาขาสุขภาพ มี 6 อุตสาหกรรม ตัวอย่างของประเด็นจำเพาะรายสาขา ประกอบด้วย ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน น้ำ และการจัดการของเสีย ความปลอดภัยในตัวผลิตภัณฑ์ การทุจริตและติดสินบน เป็นต้น

สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร มี 6 อุตสาหกรรม ตัวอย่างของประเด็นจำเพาะรายสาขา ประกอบด้วย ฟุตพริ้นท์ทางสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล พฤติกรรมการแข่งขันและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

สาขาพลังงานทางเลือกและทรัพยากรหมุนเวียน มี 6 อุตสาหกรรม ตัวอย่างของประเด็นจำเพาะรายสาขา ประกอบด้วย การจัดการด้านพลังงานและทรัพยากรน้ำ สิทธิของชนพื้นเมือง การสรรหาวัสดุ เป็นต้น

สาขาการขนส่ง มี 8 อุตสาหกรรม ตัวอย่างของประเด็นจำเพาะรายสาขา ประกอบด้วย ฟุตพริ้นท์สิ่งแวดล้อมของการใช้เชื้อเพลิง ความปลอดภัยในตัวผลิตภัณฑ์ อุบัติเหตุและการจัดการด้านความปลอดภัย เป็นต้น

สาขาทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป มี 8 อุตสาหกรรม ตัวอย่างของประเด็นจำเพาะรายสาขา ประกอบด้วย ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ชุมชนสัมพันธ์และสิทธิของชนพื้นเมือง จริยธรรมทางธุรกิจและการรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจ่ายเงินของกิจการ เป็นต้น

สาขาโครงสร้างพื้นฐาน มี 8 อุตสาหกรรม ตัวอย่างของประเด็นจำเพาะรายสาขา ประกอบด้วย การจัดการด้านพลังงาน ผลกระทบต่อชุมชน การให้ข้อมูลอย่างโปร่งใสรวมถึงการบริหารสภาพแวดล้อมทางกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

สาขาบริการ มี 10 อุตสาหกรรม ตัวอย่างของประเด็นจำเพาะรายสาขา ประกอบด้วย การจัดการด้านพลังงาน การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล การจัดการโซ่อุปทาน เป็นต้น

สาขาการแปรรูปทรัพยากร มี 5 อุตสาหกรรม ตัวอย่างของประเด็นจำเพาะรายสาขา ประกอบด้วย การจัดการด้านพลังงาน ความปลอดภัยในตัวผลิตภัณฑ์ การสรรหาวัสดุ เป็นต้น

สาขาการเงิน มี 7 อุตสาหกรรม ตัวอย่างของประเด็นจำเพาะรายสาขา ประกอบด้วย สถานะความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม การให้ข้อมูลอย่างโปร่งใสและคำแนะนำที่เป็นธรรมแก่ลูกค้า การบริหารความเสี่ยงเชิงระบบ เป็นต้น

สาขาสินค้าอุปโภคบริโภค มี 15 อุตสาหกรรม ตัวอย่างของประเด็นจำเพาะรายสาขา ประกอบด้วย การจัดการด้านพลังงาน การแสดงฉลากผลิตภัณฑ์และการสื่อสารการตลาด ผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของโซ่อุปทานส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ เป็นต้น (ข้อมูลเพิ่มเติม: www.sasb.org)

พัฒนาการล่าสุดในลำดับถัดมา เป็นการสกัดข้อมูล ESG รายสาขา ให้เหลือเฉพาะประเด็นที่มีนัยสำคัญทางการเงิน (Financially Material Issues) ต่อธุรกิจ นั่นหมายความว่า การดำเนินงาน ESG ในประเด็นดังกล่าว จะส่งผลโดยตรงต่อตัวเลขผลประกอบการของกิจการ ซึ่งจะสะท้อนมาสู่ผลตอบแทนที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับจากการลงทุนในที่สุด

ข้อมูล ESG ในส่วนนี้ เป็นที่หมายตาของผู้ลงทุน เพราะเป็นจิ๊กซอว์ที่มาเติมเต็มข้อมูลตัวเลขทางการเงินซึ่งสะท้อนผลประกอบการในอดีต ให้สามารถคาดการณ์ถึงผลประกอบการในอนาคต โดยคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมอย่างรอบด้าน ที่สมบูรณ์กว่าการพิจารณาเพียงปัจจัยพื้นฐานของกิจการ!


[กรุงเทพธุรกิจ]