5 ระดับความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง
ในการพัฒนาเครื่องมือสำหรับการวางแผนและการกำหนดกลยุทธ์ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (งานวิจัยในการสนับสนุนของ สกว. ปี 2551-2552) ได้มีการพัฒนาตัวแบบหนึ่งที่เรียกว่า ระดับความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ประเมินองค์กรธุรกิจที่เข้าไปศึกษาว่ามีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียงมากน้อยเพียงใด และจะมีกระบวนการพัฒนาเพื่อยกระดับให้สู่ขั้น (stage) ที่สูงขึ้นไปได้อย่างไร โดยไม่จำกัดว่าองค์กรนั้นจะใช้หลักการหรือแนวทางปฏิบัติจากแหล่งใด หรือไม่อิงอยู่กับทฤษฎีที่จะพัฒนามาจากปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งในอนาคต
ตัวแบบระดับความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง เกิดจากแนวคิดที่ต่อยอดมาจากเกณฑ์การจำแนกองค์กรธุรกิจที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงออกเป็น 3 กลุ่ม คือ เข้าข่าย - เข้าใจ - เข้าถึง โดยมีการกำหนดระดับความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง เป็น 5 ระดับ ดังนี้
องค์กรธุรกิจที่ได้รับการประเมินในระดับที่ 1 จะแสดงให้เห็นถึงการริเริ่มนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในองค์กร มีการประกาศให้ทราบในองค์กรว่าจะยึดแนวทางการดำเนินงานที่เข้ากับคุณลักษณะใดลักษณะหนึ่งของเศรษฐกิจพอเพียงในบางส่วนงาน หรือทดลองนำมาปฏิบัติเป็นตัวอย่าง โดยอาจจะยังไม่มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ก็ได้
องค์กรธุรกิจที่ได้รับการประเมินในระดับที่ 2 จะแสดงให้เห็นถึงการขยายผลของการริเริ่มในระดับแรกไปสู่การปฏิบัติในหลายส่วนงาน มีการพูดคุย ศึกษา ค้นคว้า และถ่ายทอดวิธีการดำเนินงานจากส่วนงานหนึ่งไปยังอีกส่วนงานหนึ่งจนเป็นที่แพร่หลายในองค์กร อย่างไรก็ดี ผลของการดำเนินงานในแต่ละส่วนงานจะยังมีความแตกต่างกัน มีทั้งที่สัมฤทธิ์ผลบ้างและไม่สัมฤทธิ์ผลบ้าง
องค์กรธุรกิจที่ได้รับการประเมินในระดับที่ 3 จะแสดงให้เห็นถึงการที่องค์กรมีการพัฒนาตัวแบบสำหรับการประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียงขึ้นอย่างเป็นระบบ หรือมีการนำหลักการและแนวทางปฏิบัติทางธุรกิจที่สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นที่ยอมรับมาปรับใช้ในองค์กร โดยสามารถกำหนดเป็นกลยุทธ์และมีตัวชี้วัดการดำเนินงานได้อย่างเป็นรูปธรรม
องค์กรธุรกิจที่ได้รับการประเมินในระดับที่ 4 จะแสดงให้เห็นถึงการนำตัวแบบ หลักการ กลยุทธ์ และแนวปฏิบัติ รวมทั้งตัวชี้วัดการดำเนินงานมาปฏิบัติใช้ในธุรกิจ มีการบริหารจัดการและการติดตามวัดผลการดำเนินงานตามหลักการและแนวปฏิบัติที่ได้กำหนดขึ้นในระดับที่สามอย่างต่อเนื่อง จนสามารถกำกับดูแลเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามที่มุ่งหมาย
องค์กรธุรกิจที่ได้รับการประเมินในระดับที่ 5 จะแสดงให้เห็นถึงความสามารถขององค์กรในการบูรณาการ “วิธี” แห่งการปฏิบัติให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร จนกลายเป็น “วิถี” แห่งการดำเนินธุรกิจตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างสมบูรณ์ และถูกหยิบยกขึ้นเป็นกรณีศึกษาได้อย่างชัดแจ้ง องค์กรธุรกิจในระดับนี้ จะมีภูมิคุ้มกันต่อวิกฤตการณ์และภัยคุกคามต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งส่งผลให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน
ตัวแบบระดับความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงนี้ สามารถพัฒนาไปสู่การจัดทำรายละเอียดของชุดกรรมวิธี (processes) ในแต่ละขั้น สำหรับประกอบการประเมินและใช้วัดเปรียบเทียบสมรรถนะ (Benchmarking) การดำเนินงานระหว่างองค์กรได้โดยใช้ชุดตัวชี้วัดการดำเนินงานอ้างอิงในบรรทัดฐานเดียวกัน รวมทั้งสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในภาคธุรกิจที่เป็นรูปธรรม ตลอดจนสามารถใช้เผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงานตามเกณฑ์ระดับความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงดังกล่าวได้อย่างเป็นระบบ
[กรุงเทพธุรกิจ]