Pages

Saturday, January 21, 2017

อาสาอย่างมืออาชีพ


สืบเนื่องจากสถานการณ์อุทกภัย และน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ 12 จังหวัด (ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง และประจวบคีรีขันธ์) มีผู้ที่ได้รับผลกระทบกว่า 1.6 ล้านคน โดยทุกภาคส่วน ได้ระดมความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

ความช่วยเหลือจากภาคธุรกิจในระยะเผชิญเหตุ (Response) มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าภาครัฐและภาคประชาสังคมโดยรูปแบบของความช่วยเหลือ มีทั้งที่เป็นเงินและสิ่งของ รวมทั้งการอาสาช่วยเหลือในระดับต่างๆ

ภาคเอกชนที่มีความประสงค์จะลงไปให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ หรือจัดชุดอาสาสมัครในนามของหน่วยงานเข้าให้ความช่วยเหลือ ควรมีการตระเตรียมความพร้อมและประเมินขีดความสามารถในการช่วยเหลือเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ข้อแนะนำ 8 ประการ* ภายใต้ตัวย่อ RESPONSE สำหรับองค์กรและบุคลากรที่กำลังอาสาเข้าให้ความช่วยเหลือ มีดังนี้

Review – พิจารณาทบทวนแผนงานขององค์กรในปัจจุบันและประสบการณ์ที่ได้รับก่อนหน้า การดำเนินการทบทวนและกำหนดนโยบายการเผชิญเหตุภัยพิบัติ จะช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติในครั้งต่อๆ ไปขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล

Engage – ใช้จุดแข็งและสมรรถภาพหลักในการเข้าช่วยเหลือ การจัดโครงสร้างของแผนผูกพันพนักงานสำหรับตอบสนองภัยพิบัติ โดยการดึงศักยภาพของบรรดาหัวกะทิและประสบการณ์ของพนักงานในบริษัทมาทำงานอาสาที่เหมาะสม จะยังประโยชน์ได้มากกว่าการอาสาในแบบทั่วไป

Secure – ขวนขวายเพื่อให้ได้คำมั่นจากผู้บริหารระดับสูง การสนับสนุนทางการเงินในเหตุภัยพิบัติต้องมีแรงโน้มน้าวหลักจากการตัดสินใจของผู้บริหารสูงสุดในองค์กร และเป็นการเพิ่มน้ำหนักในแผนงานตอบสนองภัยพิบัติที่จะดำเนินการ

Prepare – ตระเตรียมนโยบายและวางระบบสนับสนุนแผนผูกพันพนักงานในการตอบสนองภัยพิบัติ อาทิ นโยบายกองทุนช่วยเหลือ เงินสมทบ วันลาพิเศษ ระบบการประเมินความต้องการสำหรับความช่วยเหลือในช่วงภัยพิบัติ การแสวงหาพันธมิตรหรือหุ้นส่วนที่จะดำเนินการ เพื่อที่จะตอบสนองได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิผลสูง

Organise – จัดระบบประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพและความปลอดภัย เนื่องจากการปฎิบัติงานในช่วงเผชิญเหตุเต็มไปด้วยความเสี่ยง องค์กรจึงจำเป็นต้องจัดให้มีระบบประเมินฯ การป้องกัน และกรมธรรม์ประกันภัยที่เพียงพอในการรองรับแผนผูกพันพนักงานสำหรับตอบสนองภัยพิบัติ

Negotiate – เจรจาทำข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนกับองค์กรร่วมดำเนินงานอื่นๆ เพื่อรองรับการดำเนินงานสนับสนุนทั้งการให้บริการ การระดมความเชี่ยวชาญในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติในระยะยาว หลังจากช่วงการเผชิญเหตุผ่านพ้นไป

Structure – จัดระเบียบและโครงสร้างในการเผชิญเหตุ ตามกรอบของบทบาทและความรับผิดชอบในพื้นที่ครอบคลุม อาทิ ในระดับประเทศ ในระดับภูมิภาค และในสำนักงานใหญ่ โดยมีการมอบหมายพนักงานที่เป็นผู้รับผิดชอบในแต่ละระดับ สอดรับกับพื้นที่ครอบคลุม เพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการดำเนินงาน

Evaluate – ประเมินวิธีการดำเนินงานและความช่ำชองในการสื่อสาร ความท้าทายสำคัญขององค์กรในการเข้าช่วยเหลือในช่วงเผชิญเหตุ คือ รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ และการรายงานผลการให้ความช่วยเหลือ โดยไม่เพียงแต่การให้ความช่วยเหลือต้องมีประสิทธิผลยิ่งแล้ว การสื่อสารรายงานก็ต้องดำเนินการอย่างมีกลยุทธ์ด้วย เนื่องเพราะการสื่อสารที่ดีจะช่วยปลุกเร้าให้เกิดความช่วยเหลือและการอาสาของพนักงานภายในองค์กรเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างชื่อเสียงและเพิ่มภาพลักษณ์ให้แก่องค์กรไปพร้อมกัน

--------------------------------------
* เรียบเรียงจากเอกสาร “The Role of Employee Engagement in Disaster Response: Learning from Experience” ที่จัดทำขึ้นโดย Business in the Community (BITC) และ International Business Leaders Forum (IBLF)


[Original Link]

No comments:

Post a Comment