Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

เกณฑ์การประเมินความยั่งยืนของกิจการ

หน้าแรก      เกณฑ์การประเมิน      ผลการประเมิน      ที่มาโครงการ


การประเมินการดำเนินการเพื่อความยั่งยืนของกิจการ เป็นการนำเสนอผลการประเมินจากมุมมองของบุคคลภายนอก โดยอาศัยข้อมูลการดำเนินงานที่เกี่ยวกับเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) การต้านทุจริต (Anti-Corruption) และการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ที่บริษัทเปิดเผยต่อสาธารณะ ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) หรือรายงานประจำปี (แบบ 56-2) หรือในรายงานอื่น ตามแต่กรณี


ด้าน CSR


สำหรับเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินการดำเนินงานที่เกี่ยวกับเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม แบ่งออกเป็น 5 ระดับ แสดงในลักษณะ Progress Indicator โดยมีรายละเอียดในแต่ละระดับ ดังนี้

CSR Progress Indicator

ระดับที่ 1 Basic หมายถึง การแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ขององค์กรในการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง มีการดำเนินกิจกรรมที่สอดคล้องกับเจตจำนงในเชิงกลยุทธ์ และสามารถสื่อสารให้ผู้มีส่วนได้เสียขององค์กรได้รับทราบ

ระดับที่ 2 Engaged หมายถึง การแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ขององค์กรในการดูแลผลกระทบจากการดำเนินงาน ไม่ให้เกิดปัญหากับชุมชนหรือสังคมที่อยู่รายรอบแหล่งดำเนินงาน

ระดับที่ 3 Integrated หมายถึง การแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ในการเปิดโอกาสให้ชุมชนและสังคมได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานในฝั่งต้นน้ำหรือในฝั่งปลายน้ำของห่วงโซ่ธุรกิจ

ระดับที่ 4 Innovative หมายถึง การแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ในการสร้างให้เกิดคุณค่าร่วมระหว่างกิจการและสังคม ที่ครอบคลุมการดำเนินงานใน Value Chain และเป็นการทำงานร่วมกันกับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง

ระดับที่ 5 Sustained หมายถึง การแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ในการวางแนวทางและการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน คำนึงถึงการมีส่วนร่วมรับผิดชอบทั้งระบบนิเวศ รวมทั้งสามารถเปิดเผยรายละเอียดของการดำเนินงานได้ในทุกแง่มุม


ด้าน Anti-Corruption


สำหรับเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินการดำเนินงานที่เกี่ยวกับเรื่องการต้านทุจริต แบ่งออกเป็น 5 ระดับ แสดงในลักษณะ Progress Indicator โดยมีรายละเอียดในแต่ละระดับ ดังนี้

Anti-Corruption Progress Indicator

ระดับที่ 1 Committed หมายถึง การแสดงให้เห็นถึงคำมั่นหรือมติคณะกรรมการในเรื่องการดำเนินธุรกิจที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตและการดูแลให้บริษัทปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ระดับที่ 2 Declared หมายถึง การแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นโดยการประกาศเจตนารมณ์ที่จะดำเนินการเพื่อต่อต้านการทุจริต หรือเข้าร่วมกับองค์กรหรือโครงการต่อต้านการทุจริตในสังคม

ระดับที่ 3 Established หมายถึง การแสดงให้เห็นถึงมาตรการป้องกัน การประเมินความเสี่ยง การสื่อสารและฝึกอบรมแก่พนักงาน รวมทั้งการดูแลให้มีการดำเนินการและการทบทวนความเหมาะสมของมาตรการอย่างสม่ำเสมอ

ระดับที่ 4 Certified หมายถึง การแสดงให้เห็นว่าได้มีการสอบทานความครบถ้วนเพียงพอของกระบวนการ จากคณะกรรมการตรวจสอบหรือผู้สอบบัญชีที่สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ความเห็นชอบ และได้รับการรับรองหรือการให้ความเชื่อมั่นอย่างเป็นอิสระจากหน่วยงานภายนอก

ระดับที่ 5 Extended หมายถึง การแสดงให้เห็นถึงการขยายผลการดำเนินนโยบายต่อต้านการทุจริตสู่ผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่ธุรกิจ รวมทั้งหุ้นส่วนทางธุรกิจ ที่ปรึกษา ตัวกลาง หรือตัวแทนธุรกิจ และการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับกรณีทุจริตที่เกิดขึ้น


ด้าน SDG


สำหรับเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินการดำเนินงานที่เกี่ยวกับเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แบ่งออกเป็น 5 ระดับ แสดงในลักษณะ Progress Indicator โดยมีรายละเอียดในแต่ละระดับ ดังนี้

SDG Progress Indicator

ระดับที่ 1 Understanding (the SDGs) หมายถึง การแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ระดับที่ 2 Defining (Priorities) หมายถึง การแสดงให้เห็นถึงการให้ลำดับความสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่องค์กรต้องการตอบสนอง

ระดับที่ 3 Setting (Goals) หมายถึง การแสดงให้เห็นถึงการกำหนดเป้าประสงค์ที่องค์กรดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ระดับที่ 4 Integrating หมายถึง การแสดงให้เห็นถึงการผนวกการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั่วทั้งองค์กร

ระดับที่ 5 Reporting (and Communicating) หมายถึง การแสดงให้เห็นว่าได้มีการสื่อสารและการรายงานผลการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน