Community-Friendly Business
สถาบันไทยพัฒน์ เชิญชวนองค์กรที่สนใจ เข้าเป็นเครือข่ายธุรกิจที่เป็นมิตรกับชุมชน ในบริบทของความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการ (CSR-in-process) ด้วยการนำกลไกการจัดซื้อมาสนับสนุนสินค้าและบริการที่ชุมชนผลิตและจำหน่าย เริ่มจากชุมชนที่อยู่ในละแวกที่สถานประกอบการตั้งอยู่ รวมทั้งสำรวจโอกาสในการพัฒนากลุ่มอาชีพในชุมชน สู่การเป็นผู้ประกอบการชุมชน (Community Entrepreneur: CE) อันเป็นปัจจัยที่จะช่วยเหลือชุมชนตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน
เป้าประสงค์ของสถาบันไทยพัฒน์ภายใต้ความริเริ่มนี้ เพื่อต้องการยกระดับความช่วยเหลือที่องค์กรธุรกิจมีต่อชุมชน จากรูปแบบกิจกรรมเพื่อสังคม ที่ชุมชนเป็นผู้รับมอบความช่วยเหลือ มาสู่การขับเคลื่อนโดยใช้กระบวนการจัดซื้อวัสดุใช้สอยในธุรกิจ ด้วยการเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามาเป็นผู้ส่งมอบในห่วงโซ่อุปทาน
สถาบันไทยพัฒน์ได้จัดทำแพลตฟอร์ม “ธุรกิจที่เป็นมิตรกับชุมชน” หรือ “Community-Friendly Business” สำหรับการขับเคลื่อนโครงการและสนับสนุนวิสาหกิจที่เข้าร่วมเครือข่ายให้มีช่องทางการจัดซื้อวัสดุใช้สอยในธุรกิจ เพื่อสนับสนุนสินค้าและบริการที่ชุมชนผลิตและจำหน่าย อาทิ ของว่างสำหรับการประชุมหรือเลี้ยงรับรองแขก ข้าวสารหรืออาหารที่จัดหาเป็นสวัสดิการแก่พนักงาน บริการต้นไม้ให้เช่าสำหรับวางประดับในอาคารและพื้นที่สำนักงาน งานตัดเย็บเครื่องแบบพนักงาน ฯลฯ
โครงการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับชุมชน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการ (CSR-in-process) สำหรับชุมชนอย่างยั่งยืน ด้วยการเปลี่ยนสถานะชุมชนจาก “ผู้รับมอบ” ความช่วยเหลือ มาเป็น “ผู้ส่งมอบ” ในห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งส่งเสริมให้วิสาหกิจที่เข้าร่วมโครงการ เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในถิ่นที่ตั้งของสถานประกอบการ ให้สามารถยกระดับเป็นผู้ประกอบการในระดับชุมชน โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่หนึ่ง: กิจกรรมการสำรวจและระบุรายการสินค้าและบริการที่องค์กรใช้สอยอยู่ในปัจจุบัน และเป็นสินค้าและบริการที่ชุมชนสามารถจัดหาให้ตรงกับความต้องการได้ โดยองค์กรมีการให้คำมั่น (Commit) ที่จะดำเนินการจัดซื้อ/จัดหาจากชุมชน ในวงเงิน 1 ล้านบาทต่อปี
ระยะที่สอง: กิจกรรมการเชื่อมโยงให้เกิดธุรกรรม (Transact) ซื้อ-ขายระหว่างองค์กรและชุมชน ภายใต้แพลตฟอร์มของโครงการ และสนับสนุนชุมชนในการพัฒนาหรือปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการให้สอดคล้องกับความต้องการขององค์กร
ระยะที่สาม: กิจกรรมการต่อยอดชุมชนที่เป็นคู่ธุรกรรม และมีศักยภาพที่จะพัฒนา จากฐานะของผู้ส่งมอบในระยะที่สอง มาเป็นคู่สัญญา (Contract) หรือหุ้นส่วนทางธุรกิจ (หรือเทียบเท่า) เพื่อนำไปสู่การสร้างคุณค่าร่วม ด้วยการนำร่องชุมชนที่มีความพร้อม ผลักดันให้เป็นผู้ประกอบการชุมชน และทำให้เป็นกรณีตัวอย่าง เพื่อการขยายผลกับชุมชนในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
วิสาหกิจที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับสิทธิประโยชน์ (โดยไม่มีค่าใช้จ่าย) ดังนี้
- | การเข้าร่วมในเครือข่ายธุรกิจที่เป็นมิตรกับชุมชน (Community-Friendly Business) |
- | สิทธิการใช้โลโก้ในโครงการ เพื่อการสื่อสารประชาสัมพันธ์องค์กร |
- | กิตติกรรมประกาศ (Acknowledgement) ในฐานะผู้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับชุมชน |
ทั้งนี้ วิสาหกิจที่ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 3 ระยะ จะได้รับประกาศนียบัตรจากสถาบันไทยพัฒน์ โดยการสนับสนุนของหน่วยงานริเริ่มธุรกิจเพื่อสังคมแห่งประเทศไทย (Thailand Social Business Initiative: TSBI)
องค์กรธุรกิจที่สนใจ สามารถติดต่อเพื่อเข้าร่วมโครงการที่ คุณปัญจารีย์ วัชรปัญญาเลิศ อีเมล panjaree@thaipat.org ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
วิสาหกิจที่ร่วมโครงการ
• | บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) |
• | การทางพิเศษแห่งประเทศไทย |
• | การไฟฟ้านครหลวง |
• | บริษัท กุลธรเคอร์บี้ จำกัด (มหาชน) |
• | บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) |
• | บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) |
• | บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) |
• | บริษัท ซีเฟรชอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) |
• | บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) |
• | บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) |
• | บริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด |
• | บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) |
• | บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) |
• | บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) |
• | บริษัท ไทยออพติคอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) |
• | บริษัท นำสินประกันภัย จำกัด (มหาชน) |
• | บริษัท ผลิตภัณฑ์ตราเพชร จำกัด (มหาชน) |
• | บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) |
• | บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) |
• | บริษัท โรงพยาบาล ลาดพร้าว จำกัด (มหาชน) |
• | บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) |
• | บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) |
• | บริษัท ศูนย์บริการเหล็กสยาม จำกัด (มหาชน) |
• | บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) |
• | บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) |
• | บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) |
• | บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) |
• | บริษัท เอเชียน ไฟย์โตซูติคอลส์ จำกัด (มหาชน) |
• | บริษัท เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) |
• | บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด |
• | บริษัท เอส แอนด์ เจ อินเตอร์เนชั่นแนล เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) |
• | บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) |
[ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2560]
หมายเหตุ: สถาบันไทยพัฒน์ ไม่มีนโยบาย หรือมิได้มอบหมายให้บุคคลหรือองค์กรหนึ่งองค์กรใด เป็นตัวแทนดำเนินการติดต่อกับวิสาหกิจที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อระดมทุนหรือขอรับการสนับสนุนใดๆ จากหน่วยงาน
หากท่านพบเห็นพฤติกรรมดังกล่าว กรุณาแจ้งมายัง info@thaipat.org