Pages

Monday, March 13, 2017

6 ทิศทางซีเอสอาร์ ปี′60 สร้างธุรกิจรับเป้าหมาย SDGs


ภายหลังการประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals -SDGs) ของสหประชาชาติตั้งแต่เมื่อปี 2558 จึงส่งผลให้ภาคธุรกิจมีความตื่นตัวในการนำเป้าหมาย SDGs มาผนวกเข้ากับกระบวนการทางธุรกิจที่ดำเนินอยู่


โดยเรื่องดังกล่าวถูกพูดถึงในงานแถลงทิศทางซีเอสอาร์ปี 2560 ซึ่ง "ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ" ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ระบุว่า แลนด์สเคปของการพัฒนาที่ยั่งยืนมีซีเอสอาร์เป็นกลไกขับเคลื่อน และเป็นกระบวนการที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยจาก 17 เป้าหมายของ SDGs สามารถแบ่งออกเป็น 5 เรื่องหลัก ได้แก่ People (ประชาชน), Planet (โลก), Prosperity (ความมั่งคั่ง), Peace (สันติภาพ) และ Partnership (ความเป็นหุ้นส่วน)

"SDGs นับเป็น Global Goal ที่ทำแล้วเกิดประโยชน์ต่อกิจการและสังคมไทย โดยหลายองค์กรเริ่มหยิบ SDGs มาเป็นภาษากลางในการสื่อสารกับพนักงาน ว่าจะนำเรื่องนี้มาขับเคลื่อนการทำงานของธุรกิจอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน"

สถาบันไทยพัฒน์จึงประมวลสถานการณ์และแนวโน้มซีเอสอาร์ของประเทศไทยในปีนี้ซึ่งมี6ทิศทางอันเป็นแนวทางที่มุ่งตอบสนองต่อเป้าหมายโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนพร้อมเกิดผลกระทบสู่ชุมชนท้องถิ่นและสังคมโดยรวม

1.เที่ยงธรรม (Integrity)
จะเห็นได้ว่าจากการจัดอันดับขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) ซึ่งประกาศค่าคะแนนดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นปี 2559 โดยประเทศไทยได้ 35 คะแนน จาก 100 คะแนน อยู่อันดับที่ 101 จาก 176 ประเทศ และพบว่าคะแนนที่ลดลงนั้นมาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของภาคธุรกิจ

อีกทั้งยังมีเคสต่างๆที่ปรากฏขึ้นอย่างกรณีการจ่ายสินบนของบริษัทโรลส์-รอยซ์ที่มีส่วนเกี่ยวพันกับบริษัทจดทะเบียนไทยหรือบริษัทไบโอ-ราด แลบบอราทอรี่ส์ ผู้ผลิตและจำหน่ายเวชภัณฑ์ ที่ยอมจ่ายค่าปรับในคดีสินบน ซึ่งระบุว่ามีหน่วยงานในไทยเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน

"องค์กรธุรกิจจึงต้องยกระดับการดำเนินงานด้านธรรมาภิบาลจากการพัฒนาที่เน้นรูปแบบ(Form)มาสู่การให้ความสำคัญกับเนื้อหา(Substance)เพื่อลดช่องว่างระหว่างการมีเจตนาที่ดีไปสู่การกระทำที่ดีและให้เห็นผลจริงในทางปฏิบัติ"

2.ทั่วถึง (Inclusive)
รัฐบาลมุ่งให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากความเจริญ และการพัฒนา สร้างความมั่งคั่ง และโอกาสที่กระจาย เป็นสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน หรือเน้นการพัฒนาประเทศบนพื้นฐานของการเติบโตไปด้วยกัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

"เช่นเดียวกันกับภาคธุรกิจ เมื่อพัฒนาธุรกิจแล้วอย่าทิ้งใครไว้ข้างหลัง หรือคำนึงถึงชุมชนระดับฐานรากด้วย อาจคิดในมุมที่ว่าจะนำคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังให้เข้ามาอยู่ในห่วงโซ่ของธุรกิจได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นคนด้อยโอกาส หรือชุมชนที่ยังต้องการความช่วยเหลือ"

กล่าวได้ว่า เป็นการนำขีดความสามารถหลักและความเชี่ยวชาญทางธุรกิจมาใช้ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน รวมถึงการใช้โครงข่ายธุรกิจที่ตนเองมีอยู่มาสนับสนุนการทำงานของชุมชน หรือผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มเป้าหมาย

3.เท่าเทียม (Equality)
การกระจายความมั่งคั่งและโอกาสอย่างทั่วถึง และเป็นธรรมให้กับประชาชนเป็นสิ่งจำเป็นที่ประเทศไทยต้องดำเนินการเพื่อลดความไม่เสมอภาค โดยภาคธุรกิจอาจมีบทบาทในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ด้วยการมองไปยังกลุ่มเป้าหมายอย่างผู้พิการ ผู้สูงอายุ ซึ่งยังไม่มีฟุตพรินต์เข้าไปตอบสนอง จึงเป็นโจทย์ที่ภาคธุรกิจในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมควรนำมาพิจารณาดำเนินการ เพื่อตอบสนองทิศทางที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการปรับเปลี่ยนจากมุมมองที่เป็นภาระมาเป็นโอกาสในธุรกิจ

4.ท้องถิ่น (Local)
รัฐบาลได้จัดทำแผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยมีการนำเสนอโครงสร้างตามแผนพัฒนาใน 6 ภาค ตามแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันยังมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน 18 กลุ่มจังหวัด วงเงิน 1.15 แสนล้านบาท ซึ่งหอการค้าไทยระบุว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาคให้ขยายตัวได้

"จากงบประมาณที่เน้นกระจายลงไปในท้องถิ่นทำให้ธุรกิจในภูมิภาคได้รับอานิสงส์จากงบพัฒนากลุ่มจังหวัดตามแนวทางการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศดังนั้นกลุ่มธุรกิจจะต้องคำนึงถึงการสร้างหุ้นส่วนและความร่วมมือกับภาครัฐและชุมชนเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจและความได้เปรียบทางการแข่งขัน"

5.ท่องเที่ยว (Tourism)
องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ(UNWTO)ประกาศให้ปี 2560 เป็นปีสากลแห่งการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนเพื่อการพัฒนา ซึ่งมีผลต่อการผลักดันเรื่องอื่น ๆ ทั้งมาตรการด้านเศรษฐกิจ การจ้างงาน การดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งหลายโรงแรมออกแบบทริปให้นักท่องเที่ยวได้ไปสัมผัสวิถีชุมชน หรือจัดทริปเป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

"ภาคธุรกิจโดยเฉพาะในสาขาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และบริการจะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อน เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ ไปพร้อมกับการทำให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ตั้งแต่การวางนโยบาย แล้วนำไปสู่การผลักดัน และยกระดับการรับรู้ ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างและกระจายองค์ความรู้การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนด้วย"

6.ทดแทน (Renewable)
ภาคธุรกิจได้ปรับตัวกับเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้วตั้งแต่มีกระแสเรื่อง Climate Change ในทางเดียวกัน ประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2573 ที่ 20-25% คือลดการปล่อยจาก 555 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าให้เหลือ 111-139 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งภาคธุรกิจสามารถนำทิศทางดังกล่าวมาปรับกับการกำหนดเป้าหมายการลดใช้พลังงานขององค์กรได้

กล่าวได้ว่าธุรกิจที่มุ่งตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจะปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโดยมีแบบแผนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนรวมทั้งมีการกำหนดเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกขององค์กรตลอดจนเป้าหมายการลดปริมาณของเสียที่นำไปฝังกลบจนเป็นศูนย์ (Zero Waste to Landfill)

ทั้งหมดเป็นทิศทางซีเอสอาร์ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ อันสอดรับกับแนวทางของ SDGs โดย "ดร.พิพัฒน์" เน้นย้ำว่าหากบริษัทนำเป้าหมายของ SDGs เป็นตัวตั้ง แล้วนำความเชี่ยวชาญของธุรกิจเข้าไปจับ แทนการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมแบบแยกต่างหาก จะสามารถตอบโจทย์องค์กรได้ตามเป้าหมาย แม้จะเห็นผลช้าแต่ก็เป็นผลกระทบเชิงบวกระยะยาวทั้งต่อกิจการ ท้องถิ่นที่เป็นสังคมใกล้กิจการ และผู้มีส่วนได้เสียที่อยู่ในสังคมไกลออกไป


[Original Link]

No comments:

Post a Comment