ไทยพัฒน์ แถลงทิศทาง CSR ปี 60 กางแผนที่ธุรกิจ SDG ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน
สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เผยแนวโน้ม CSR ปี 60 ใน 6 ทิศทางสำคัญ “เที่ยงธรรม-ทั่วถึง-เท่าเทียม-ท้องถิ่น-ท่องเที่ยว-ทดแทน” ชี้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวรองรับการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการแปลงเป้าหมายโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มาเป็นโจทย์ในการดำเนินงาน ที่สามารถสร้างให้เกิดโอกาสทางธุรกิจไปพร้อมๆ กัน
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กล่าวในงานแถลงทิศทาง CSR ปี 2560 ที่จัดขึ้นวันนี้ (2 มีนาคม 2560) ว่า “บทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ หรือ CSR ในปัจจุบัน ที่มีเข็มมุ่งไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน จะมีโจทย์อยู่ที่การนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 17 ข้อ มาผนวกเข้ากับกระบวนการทางธุรกิจที่ดำเนินอยู่ เพื่อแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า เกิดเป็นผลกระทบที่พึงประสงค์ต่อท้องถิ่นที่เป็นสังคมใกล้กับกิจการ ไปจนถึงผู้มีส่วนได้เสียที่อยู่ในสังคมไกลออกไป”
สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการประเมินทิศทางความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ภายใต้รายงานที่มีชื่อว่า 6 ทิศทาง CSR ปี 2560: Articulating 'Global Goals' to 'Local Impacts' เผยแพร่ให้แก่ผู้แทนขององค์กรธุรกิจและหน่วยงานที่เข้าร่วมงานในวันนี้กว่า 200 คน สำหรับเป็นแนวทางการดำเนินงานในทางที่ตอบสนองต่อเป้าหมายโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ก่อให้เกิดเป็นผลกระทบที่คาดหวังสู่ชุมชนท้องถิ่นและสังคมโดยรวม
โดยหนึ่งในทิศทาง CSR ที่สำคัญในปีนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเปิดเผยรายงานของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ กรณีการจ่ายสินบนของบริษัท โรลส์รอยซ์ ที่มีส่วนเกี่ยวพันกับบริษัทจดทะเบียนไทย กรณีบริษัท เจเนอรัล เคเบิล ผู้ผลิตสายเคเบิลและสายไฟ ที่รับสารภาพว่าติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย และกรณีบริษัท ไบโอ-ราด แลบบอราทอรี่ส์ ผู้ผลิตและจำหน่ายเวชภัณฑ์ ที่ยอมจ่ายค่าปรับในคดีสินบน ซึ่งระบุว่ามีหน่วยงานในไทยเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน
ทำให้ ปี 2560 จะเป็นปีแห่งความท้าทายในเรื่องการขับเคลื่อนธรรมาภิบาลของไทย ทั้งแก่หน่วยงานกำกับดูแล และองค์กรผู้ปฏิบัติ ที่ต้องยกระดับการดำเนินงานด้านธรรมาภิบาล จากการพัฒนาที่เน้นรูปแบบ (Form) มาสู่การให้ความสำคัญกับเนื้อหา (Substance) เพื่อลดช่องว่างระหว่างการมีเจตนาที่ดี (good intentions) ไปสู่การกระทำที่ดี (good actions) ให้เห็นผลจริงในทางปฏิบัติ
ในงานแถลงทิศทาง CSR ปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ยังได้จัดให้มีการเสวนาเรื่อง SDG Business: Articulating 'Global Goals' to 'Local Impacts' เพื่อเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานของภาคธุรกิจให้มีความเชื่อมโยงกับการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามเข็มทิศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG Compass ที่สามองค์กรชั้นนำด้านการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับโลก ได้แก่ องค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (GRI) ข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) และสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (WBCSD) ได้ร่วมกันพัฒนาขึ้น
นอกจากนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะองค์กรที่ทำงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกับภาคธุรกิจเอกชนในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2548 และเป็นองค์กรสมาชิกของเครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในสังกัดสหประชาชาติ (United Nations Sustainable Development Solutions Network: UNSDSN) ได้ริเริ่มจัดทำ “ดัชนีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับองค์กร” หรือ Corporate SDG Index ของประเทศไทยเป็นครั้งแรก ด้วยการประมวลข้อมูลความยั่งยืนของกิจการในประเทศไทย จำนวน 124 แห่ง โดยจากการประเมินพบว่า องค์กรส่วนใหญ่ มีการดำเนินงานที่ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสูงสุด 3 อันดับแรก คือ เป้าหมายด้านการศึกษา มากสุดที่ร้อยละ 57.5 รองลงมาเป็นเป้าหมายด้านอุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน ร้อยละ 40.1 และเป้าหมายด้านความเท่าเทียมทางเพศ ร้อยละ 31.0 ตามลำดับ
Thailand Corporate SDG Index |
ในการเสวนาครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมงานยังได้รับหนังสือชื่อ “SDG Business: Corporate Action on Sustainable Development” ที่สถาบันไทยพัฒน์ จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการดำเนินบทบาทขององค์กรธุรกิจที่มีต่อวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 ขององค์การสหประชาชาติ เพื่อมุ่งไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับสากล ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปี นับจากนี้จวบจนปี ค.ศ.2030
ผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับหนังสือ SDG Business ได้ที่สถาบันไทยพัฒน์ (ไม่มีค่าใช้จ่าย) ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ www.thaipat.org
สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
สถาบันไทยพัฒน์ ปิยเลขา ไหล่แท้ โทร 0-2930-5227