CSR กับ ESG ต่างกันหรือไม่
จากความต้องการของผู้ลงทุนที่มีต่อข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนในปัจจุบัน ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงข้อมูลทางการเงิน ผู้ลงทุนได้ให้ความสำคัญของข้อมูลที่มิใช่ตัวเลขทางการเงินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะข้อมูลดังกล่าว สามารถบ่งชี้ถึงโอกาสและความเสี่ยง รวมทั้งขีดความสามารถขององค์กรที่มีต่อผลประกอบการในอนาคตของบริษัท
คำว่า ESG ซึ่งย่อมาจาก Environmental, Social, and Governance จึงเกิดขึ้นในแวดวงตลาดทุน เพื่ออธิบายถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทและการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุน
Financial Times* ได้บัญญัติความหมายของ ESG ว่า เป็นคำที่ใช้ในตลาดทุนโดยผู้ลงทุนเพื่อใช้ประเมินการดำเนินงานของบริษัท และทำให้ล่วงรู้ถึงผลประกอบการในอนาคตของบริษัท ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการประกอบการดังกล่าวนี้ มาจากบทบาทของบริษัทที่มีต่อเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) ภายใต้บริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน
หากจะเปรียบเทียบระหว่าง CSR กับ ESG เพื่อให้เข้าใจได้อย่างถูกต้อง สามารถอธิบายได้ว่า ESG เป็นคำที่กลุ่มผู้ลงทุนใช้ เวลาที่ต้องการเลือกกิจการที่จะเข้าไปลงทุนว่ามีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถลงทุนได้หรือไม่ ESG จึงเป็นคำที่ใช้สื่อระหว่างผู้ลงทุนกับบริษัท
ส่วน CSR เป็นคำที่กิจการใช้แสดงถึงการที่บริษัทมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (รวมถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดี) ผ่านทางกระบวนการดำเนินงานต่างๆ ของบริษัท CSR จึงเป็นคำที่ใช้สื่อระหว่างบริษัทกับผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งครอบคลุมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่เฉพาะผู้ลงทุน
ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่าง CSR กับ ESG อธิบายได้ว่า CSR ถือเป็นบทบาทของกิจการใน ‘ภาคการดำเนินงาน’ ที่ควรตอบโจทย์กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ ESG ถือเป็นบทบาทของกิจการใน ‘ภาคข้อมูล’ ที่ควรตอบโจทย์กลุ่มผู้ลงทุน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ CSR เป็นเรื่องของการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมที่คำนึงถึงความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียรอบกิจการ ขณะที่ ESG เป็นเรื่องของการเปิดเผยข้อมูลจากการการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคม ที่คำนึงถึงความคาดหวังของผู้ลงทุน โดยเฉพาะผู้ลงทุนสถาบัน
นั่นหมายความว่า กิจการที่สามารถดำเนินงาน CSR-in-process ได้ดี ก็ควรจะมีผลการดำเนินงานที่พร้อมต่อการเรียบเรียงเป็นข้อมูล ESG ให้แก่ผู้ลงทุนได้ทันที โดยมิต้องไปดำเนินการอะไรใหม่แต่อย่างใด
ฉะนั้น การที่องค์กรใด ออกมาประกาศว่าจะเปลี่ยนจากการมุ่ง CSR มาเป็น ESG แสดงว่า ยังขาดความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว เพราะกิจการคงไม่ได้มีความมุ่งประสงค์ว่า จะเปลี่ยนจากการให้ความสำคัญกับการดูแลผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องอย่างครอบคลุมและทั่วถึง มาเป็นการดูแลเฉพาะผู้ลงทุนกลุ่มเดียวแน่นอน
ในแง่ขององค์กรที่มีการขับเคลื่อน CSR-in-process หรือมีความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการหลักทางธุรกิจที่ดีอยู่แล้ว อาจไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการอะไรใหม่ หรือทำเพิ่มเติมจากที่เป็นอยู่ เพราะสิ่งที่ดำเนินการอยู่ เข้าเกณฑ์ ESG ที่ผู้ลงทุนใช้พิจารณาเข้าลงทุนในบริษัทอยู่แล้ว ส่วนจะได้รับเม็ดเงินลงทุนมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับที่ผู้ลงทุนจะ Benchmark การดำเนินงานของกิจการตามเกณฑ์ ESG เทียบกับองค์กรอื่นที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเข้าลงทุน
ในแง่ขององค์กรที่มีการขับเคลื่อน CSR-after-process ในลักษณะกิจกรรมเพื่อสังคมซึ่งแยกต่างหากจากกระบวนการหลักทางธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ อาจจะต้องดำเนินการปรับปรุงพัฒนาในส่วนของ CSR-in-process เพิ่มเติม เพื่อให้เข้าเกณฑ์ ESG เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ลงทุนที่ใช้เกณฑ์ ESG มักจะให้ความสำคัญกับ CSR-in-process ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความเสี่ยงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับองค์กร และกับผลประกอบการขององค์กร มากกว่าเรื่องของการบริจาคหรือโครงการสาธารณกุศลต่างๆ
ด้วยเหตุนี้ องค์กรควรที่จะพิจารณาพัฒนาและมุ่งเน้นการดำเนินงาน CSR-in-process ที่ผนวกเข้าสู่กระบวนงานทางธุรกิจและมีส่วนสัมพันธ์กับสถานะของกิจการ เพื่อที่จะสามารถนำผลการดำเนินงานเหล่านั้น มาเรียบเรียงเป็นข้อมูล ESG เปิดเผยแก่ผู้ลงทุน และสะท้อนอยู่ในบรรทัดสุดท้าย ในทางที่เสริมคุณค่าให้แก่กิจการ
--------------------------------------
* The Financial Times defines ESG as "a generic term used in capital markets and used by investors to evaluate corporate behaviour and to determine the future financial performance of companies."
ESG factors are a subset of non-financial performance indicators which include sustainable, ethical and corporate governance issues such as managing the company’s carbon footprint and ensuring there are systems in place to ensure accountability.
ESG has quickly become part of investment jargon to describe the performance of investment and fund portfolios on environmental, social and governance criteria and the quality of their performance against measurable ESG factors that are reported to shareholders. ESG analysis can provide insight into the long-term prospects of companies which allows mispricing opportunities to be identified. Investors can find new market opportunities with companies that place the management of ESG factors at the core of the business.
The growing interest in ESG factors from institutional investors, in particular, reflects the view that environmental, social and corporate governance issues can affect the performance of investment portfolios and should therefore be given appropriate consideration by investors.