Pages

Saturday, June 03, 2017

CSR กับผู้สูงวัย


ปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุอยู่ราว 10.42 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 15.6 ของประชากรทั้งหมด และภายในปี พ.ศ.2563 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยจะมีประชากรผู้สูงอายุจำนวน 1 ใน 5 หรือร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งจะทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

ภาคธุรกิจสามารถนำประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) มาดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อตลาดกลุ่มผู้สูงอายุ และการพัฒนากระบวนงานทางธุรกิจที่ดำเนินอยู่ให้พร้อมรองรับต่อโครงสร้างกำลังแรงงานที่เปลี่ยนแปลง ภายใต้รูปแบบ CSR-in-process อาทิ การจ้างงานผู้สูงอายุ การจัดซื้อผลิตภัณฑ์จากกลุ่มอาชีพหรือวิสาหกิจที่ดำเนินการโดยผู้สูงอายุ รวมถึงการพัฒนาสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุ


ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้แสดงศักยภาพ ภูมิปัญญา การใช้ความรู้และประสบการณ์ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม รวมทั้งสามารถสร้างอาชีพและรายได้ที่ต่อเนื่องหลังเกษียณอายุ โดยองค์กรธุรกิจสามารถดำเนินงานทางธุรกิจที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุได้ใน 4 มิติ ได้แก่

มิติด้านการจ้างงาน (Employment) ภาคธุรกิจสามารถดำเนินนโยบายด้านนี้ได้โดยการขยายเวลาการจ้างงาน โดยการปรับเปลี่ยนนโยบายการจ้างงานของบริษัทให้สามารถจ้างผู้เกษียณอายุที่มีศักยภาพ และมีความต้องการที่จะทำงาน หรือ การรับผู้ที่เกษียณอายุแล้วกลับเข้ามาทำงาน ในตำแหน่งงานที่มีความเหมาะสมกับผู้สูงอายุ

ตัวอย่างโครงการด้านการจ้างงานผู้สูงอายุ ได้แก่ โครงการจ้างแรงงานวัยเกษียณ ของกลุ่มโรงแรมและบริษัทในเครือเซ็นทารา ซึ่งมีจำนวนกว่า 70 แห่ง มีพนักงานวัยเกษียณที่ทำงานอยู่ประมาณ 120 คน ตั้งแต่ฝ่ายบริหาร หัวหน้าแผนก ยันพนักงานซักรีด ทำครัว ล้างจาน ช่างซ่อมบำรุง จองห้องพัก แม่บ้าน ฯลฯ

มิติด้านการจัดซื้อจัดจ้าง (Procurement) ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของบริษัท เป็นกระบวนการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการดำเนินงานของธุรกิจ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ภาคธุรกิจจะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างกับคู่ค้าซึ่งเป็นภาคธุรกิจด้วยกัน องค์กรสามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการส่วนนี้ โดยการผลักดัน และสนับสนุนสินค้าและบริการจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มแม่บ้าน ที่ดำเนินงานโดยกลุ่มผู้ผู้สูงอายุ ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการจัดซื้อ จัดจ้างของบริษัท

ตัวอย่างโครงการด้านการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าจากกลุ่มผู้สูงอายุ ได้แก่ โครงการสั่งซื้ออาหารว่างจากกลุ่มผู้สูงอายุ ของ บมจ.ทีวี ไดเร็ค โดยบริษัทฯ มีการสั่งซื้ออาหารว่างจากกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่รอบๆ บริษัท เพื่อใช้บริการ กรณีที่มีการจัดประชุมหรืองานจัดเลี้ยงต่างๆ ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้ว เป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี

มิติด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการ (Development) กลุ่มผู้สูงอายุ ถือเป็นกลุ่มลูกค้าใหม่ที่น่าสนใจ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลายองค์กรได้มีการเตรียมความพร้อมทั้งในด้านการออกแบบ และพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าและการให้บริการ เพื่อรองรับและตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุ ให้สามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ โดยมีการคำนึงถึงในด้านต่างๆ อาทิ การออกแบบอาคารสถานที่ตามอารยสถาปัตย์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การให้ข้อมูล ที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงอายุ

ตัวอย่างโครงการด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ ได้แก่ บริการ SCG Eldercare Solution ของ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย เป็นบริการให้คำปรึกษาและพัฒนานวัตกรรมที่อยู่อาศัย รวมถึงสินค้าและบริการสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งดำเนินการมาเป็นระยะเวลาประมาณ 3 ปี เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ผู้สูงวัย และครอบครัวที่มีสมาชิกเป็นผู้สูงอายุ

มิติด้านการลงทุน หรือร่วมทุน (Investment) เป็นการลงทุนหรือร่วมลงทุนในโครงการที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุหรือมีผู้สูงอายุเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับผลประโยชน์จากการร่วมทุน ทั้งในแง่ของการจัดหาทุน การสนับสนุนเงินทุน และร่วมลงทุนทำธุรกิจที่เกี่ยวกับกลุ่มผู้สูงอายุ หรือให้ผู้สูงอายุเป็นผู้ประกอบการ

ตัวอย่างโครงการด้านการลงทุนกับกิจการ/โครงการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการ FINNOMENA แพลตฟอร์มการลงทุนที่มีการออกแบบสำหรับทั้งผู้ที่เตรียมตัวเกษียณและผู้ที่เกษียณอายุ และ Health at Home ธุรกิจการดูแลสุขภาพผู้สูงวัยที่บ้าน แทนการส่งผู้สูงอายุไปอยู่สถานดูแล (Nursing Home) ซึ่งทั้งสองกิจการเป็นเป็นวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ภายใต้การสนับสนุนของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ในโครงการดีแทค แอคเซอเลอเรท

ที่มา: ข้อมูลจากผลการศึกษาในโครงการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุของสถาบันไทยพัฒน์ โดยการสนับสนุนของกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดูรายละเอียดเพิ่มติมได้ที่ http://agefriendly.biz


[Original Link]

No comments:

Post a Comment