Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

โค้งสุดท้าย ประชารัฐ


เรื่อง “เศรษฐกิจ ปากท้อง” นับเป็นเรื่องสำคัญในวาระการพัฒนาประเทศ สำคัญถึงขนาดที่สามารถสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลได้เลยทีเดียว

การเปิดใจรับฟังเสียงสะท้อนจากทุกภาคส่วน ทั้งนักธุรกิจ นักวิชาการ พ่อค้า ประชาชน ทุกกลุ่มรายได้ ทุกหน่วยสังคม ทั้งในเมืองและในชนบท เป็นสิ่งจำเป็น แม้การดำเนินการตามข้อเรียกร้องเหล่านั้น จะไม่สามารถทำได้ทั้งหมดก็ตาม

หนึ่งในปัญหาสำคัญ ที่ได้มีการสรุปไว้แล้ว ได้แก่ ปัญหาในการสร้างความเชื่อมโยงในระบบเศรษฐกิจ เช่น “ต้นทาง” การผลิต การเพาะปลูก “กลางทาง” การแปรรูป การสร้างนวัตกรรม การสร้างมูลค่าเพิ่ม และ “ปลายทาง” คือ การตลาด ที่จำเป็นต้องสร้างทางเลือก สำหรับ ประชาชน พ่อค้าคนกลาง ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ให้เป็น “ตลาดทางเลือก” ของผู้ผลิต เพาะปลูก

แม้รัฐบาลได้ริเริ่มกลไก “ประชารัฐ” เพื่อสานพลังทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ เข้าด้วยกัน เชื่อมโยงกัน เกื้อกูลกัน เกิดเป็น “ห่วงโซ่” ที่ไม่อาจแยกคิด แยกทำได้

แต่หลายโครงการความริเริ่มที่นำหน้าด้วยคำว่า ประชารัฐ เริ่มปรากฏผลให้เห็นแล้วว่า ไม่สามารถทำได้ตามวัตถุประสงค์ และมีการดำเนินงานที่เบี่ยงเบนออกไปจากเจตนารมณ์ดั้งเดิม ที่ต้องการให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ ช่วยผู้ประกอบการรายเล็ก ช่วยภาคประชาชน กลับกลายเป็นประชาชนผู้มีรายได้น้อยถูกใช้เป็นช่องทางในการถ่ายโอนประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น กรณีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ในอีกมุมหนึ่ง รัฐบาลได้ออกมาตรการหลายชุด ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการ SMEs แต่ในทางปฏิบัติ หลายกลไกไม่ทำงาน หรือใช้เวลานาน เช่น กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาท ที่เริ่มโครงการในเดือนพฤษภาคม ปัจจุบันอนุมัติไปเพียง 4,423 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 22 จนทำให้ต้องขยายการเปิดรับการยื่นคำขอออกไปจนถึงเดือนธันวาคมนี้

เสียงสะท้อนจากวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการ SMEs ที่ผมได้มีโอกาสลงคลุกคลีและสัมผัสกับปัญหาหรืออุปสรรคที่เขาเหล่านั้นเผชิญอยู่ในวันนี้ ส่วนใหญ่ ไม่ใช่เรื่องการพัฒนา “ผลิตภัณฑ์” แต่เป็นเรื่องช่องทาง “การตลาด” เพิ่มเติมจากที่มีอยู่

ซึ่งแต่ก่อน หน่วยงานราชการหลายแห่งที่ไปส่งเสริม มักมีวาทกรรมว่า เป็นเพราะ สินค้าและบริการ ที่ผลิตได้หรือที่มีอยู่ ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด จึงมีขบวนส่งเสริมทั้งเรื่องวัตถุดิบ เรื่องการออกแบบ เรื่องบรรจุภัณฑ์ ฯลฯ แต่สถานะตอนนี้ของผู้ประกอบการในห่วงโซ่เศรษฐกิจ “ต้นทาง” คือ มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาแล้ว (อุปทานพร้อม) แต่ยังก็ขายไม่ได้ (ไร้อุปสงค์)

เลยทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ตกลงผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนานั้น ก็ยังไม่เป็นที่ต้องการของตลาดอยู่ดี (หรือจริงๆ แล้ว มีตลาดอยู่จริงหรือไม่)

จึงเป็นเหตุให้ภาครัฐ จำต้องมีนโยบายด้านตลาดรองรับขึ้น และเป็นที่มาของโครงการ “ตลาดประชารัฐ”

แนวคิดของตลาดประชารัฐ มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย และผู้ไม่มีพื้นที่ค้าขาย ให้มีพื้นที่และโอกาสในการค้าขาย โดยเป็นการเพิ่มพื้นที่ตลาดใหม่ และขยายพื้นที่ตลาดเดิม จำแนกเป็น 9 ประเภท ได้แก่ ตลาดประชารัฐ Green Market ตลาดประชารัฐคนไทยยิ้มได้ ตลาดประชารัฐท้องถิ่นสุขใจ ตลาดประชารัฐ กทม. คืนความสุข ตลาดประชารัฐของดีจังหวัด ตลาดประชารัฐ Modern Trade ตลาดประชารัฐของดีวิถีชุมชน ธกส. ตลาดประชารัฐต้องชม และตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรม

ในวันที่ 5 ธันวาคมนี้ จะมีการเปิดตลาดประชารัฐพร้อมกันทั่วประเทศ ภายใต้ชื่องาน “ตลาดประชารัฐ สร้างโอกาส สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างความสุข” เพื่อนำเสนอการส่งต่อโมเดลตลาดคลองผดุงกรุงเกษมไปสู่ตลาดประชารัฐ จำนวนรวม 6,520 แห่ง

และจากการเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการ มียอดผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 120,276 ราย โดย 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มพ่อค้า/แม่ค้า 59,887 ราย กลุ่มเกษตรกร 31,071 ราย และกลุ่มผู้มีรายได้น้อย 12,862 ราย ตามลำดับ

ซึ่งก็ต้องติดตามรวบรวมข้อมูล เพื่อดูกันต่อว่า ตัวเลขยอดขายสูงปรี๊ดที่คาดการณ์ว่าจะประกาศจากโครงการตลาดประชารัฐนี้ มาจากอุปสงค์ก้อนใด สามารถเชื่อมโยงและตอบสนองกับอุปทานก้อนที่ได้รับการพัฒนาในห่วงโซ่เศรษฐกิจ “ต้นทาง” ที่ผ่านมา ได้มากน้อยเพียงใด

หาก “เศรษฐกิจ ปากท้อง” ในเวอร์ชันที่ชาวบ้านสัมผัส ยังไม่ดีขึ้น ก็เชื่อแน่ว่า ประชารัฐกำลังเดินทางเข้าสู่โค้งสุดท้ายแล้ว!!


[Original Link]