Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

สารจากผู้อำนวยการ


กว่า 17 ปี ที่สถาบันไทยพัฒน์ ดำรงบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมความยั่งยืนของกิจการ และการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจผ่าน การวิจัย (Research) การฝึกอบรม (Training) และการให้คำปรึกษา (Consulting) แก่ภาคเอกชน จนสามารถตกผลึกชุดความสัมพันธ์ของคำศัพท์ด้านความยั่งยืนที่เรียกว่า “มณฑลแห่งความยั่งยืน (Sphere of Sustainability)” ซึ่งถือเป็นธีมหลักของงาน 6 ทิศทาง ปี 2561

ปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ โดยผมได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการของสถาบัน ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป เพื่อสานต่อบทบาทของสถาบัน ในการขับเคลื่อนเรื่องการส่งเสริมความยั่งยืนของกิจการในภาคเอกชนไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ควบคู่กับเป้าหมายการดำเนินงานทางธุรกิจ

จากประสบการณ์ที่ผมได้มีโอกาสให้คำปรึกษา และถ่ายทอดความรู้ในด้านการส่งเสริมความยั่งยืนของกิจการ ข้อค้นพบสำคัญที่องค์กรควรดำเนินการ เพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านความยั่งยืน ประกอบด้วยสามเรื่องสำคัญ ดังนี้

เรื่องแรก คือ การพิจารณาประเด็นความยั่งยืนที่มีสาระสำคัญ (Material Topics) ในมุมของการสร้างโอกาสธุรกิจ ทั้งในเรื่องการเพิ่มรายได้ และการลดรายจ่าย รวมถึงขีดความสามารถขององค์กรในการหยิบยกเรื่องปัจจัยความยั่งยืนมาเป็นหนึ่งในเกณฑ์สำคัญ สำหรับการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ของกิจการ แม้ว่าที่ผ่านมาองค์กรได้ให้ความตระหนักในผลกระทบทางลบ หรือความเสี่ยงอันเนื่องมาจากข้อกำหนดกฎหมาย ข้อบังคับ และความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียที่องค์กรระบุว่าสำคัญ

เรื่องต่อมา คือ การพิจารณาขอบข่ายของผลกระทบ (Impacts) ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งกินขอบเขตกว้างมากกว่าผลกระทบอันเกิดจากการดำเนินงานขององค์กรทางตรง โดยรวมไปถึงหน่วยงาน/กิจการอื่น ๆ ที่มีความสัมพันธ์กับองค์กร หรือสินค้าและบริการภายใต้ห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งองค์กรมีความจำเป็นที่จะต้องขยายขอบเขตของเรื่องความยั่งยืนให้ครอบคลุมอย่างเพียงพอ

เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง สำหรับกิจการที่มีการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ตามที่องค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) แนะนำ คือ การพัฒนาระบบการรวบรวมสารสนเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน และผลการดำเนินงานในประเด็นความยั่งยืนที่มีนัยสำคัญ เพื่อการรายงานตามมาตรฐานการรายงานแห่งความยั่งยืนของ GRI หรือ GRI Standards ที่มาทดแทนแนวทางการรายงานแห่งความยั่งยืนของ GRI ฉบับ G4 หรือ G4 Guidelines ซึ่งจะสิ้นสุดการใช้งานในเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ.2561 โดยความท้าทายสำคัญของกระบวนการรายงานยังคงอยู่ที่ การนำ GRI Standards มาใช้เป็นเครื่องมือในการวัดผลการดำเนินงาน และการยกระดับความยั่งยืนขององค์กร ตลอดจนการยกระดับคุณภาพการรายงาน เพื่อให้องค์กรสามารถสื่อสารไปยังกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียสำคัญ และสร้างการยอมรับร่วมกันในระยะยาว

สุดท้ายนี้ กระผมขอขอบพระคุณทุกท่านสำหรับการให้โอกาส ตอบรับ และติดตามแนวโน้ม 6 ทิศทาง CSR ของสถาบันไทยพัฒน์อย่างตลอดต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 จนถึงปัจจุบัน กระผมเชื่อว่าหนังสือ 6 ทิศทาง CSR ปี 2561: The Sphere of Sustainability ฉบับนี้ จะเป็นข้อมูลสำคัญต่อการประมวลแนวทางในการขับเคลื่อนความยั่งยืนตามบริบทสากลแก่องค์กรต่อไป


 
 (วรณัฐ เพียรธรรม)
ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์
27 กุมภาพันธ์ 2561