Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ไทยพัฒน์ แถลงทิศทาง CSR ปี 61 แนะธุรกิจดูแลมณฑลแห่งความยั่งยืนของกิจการ


สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศแนวโน้ม CSR ปี 61 ใน 6 ทิศทางสำคัญ พร้อมแนะธุรกิจต้องศึกษาและทำความเข้าใจกับบทบาทในการดูแลมณฑลแห่งความยั่งยืนของกิจการ


ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ ได้กล่าวในงานแถลงทิศทาง CSR ปี 2561 ที่จัดขึ้นวันนี้ (27 กุมภาพันธ์ 2561) ว่า “นับเป็นครั้งแรกที่สถาบันไทยพัฒน์ ได้นำเอาเรื่อง CG, ESG, CSR, CSV, SD, SE, SB มาอธิบายและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ให้เห็นอย่างเป็นระบบ โดยเรียกรวมว่าเป็น มณฑลแห่งความยั่งยืน หรือ The Sphere of Sustainability ซึ่งในแต่ละเรื่องมีเหตุผลของการดำรงอยู่ ตามบริบทที่เรื่องนั้นเข้าไปเกี่ยวข้อง มิใช่เรื่องที่นำมาใช้แทนกัน แต่เพื่อใช้ค้นหาวิธีการในการดำเนินการอย่างเป็นองค์รวมเพื่อให้ได้มาซึ่งสถานะแห่งความยั่งยืน

ในปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการประเมินทิศทางความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ภายใต้รายงานที่มีชื่อว่า 6 ทิศทาง CSR ปี 2561: The Sphere of Sustainability เผยแพร่ให้แก่ผู้แทนขององค์กรธุรกิจและหน่วยงานที่เข้าร่วมงานในวันนี้กว่า 200 คน เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับภาคธุรกิจในการวางกลยุทธ์องค์กรที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนของกิจการ ให้สอดรับกับทิศทางการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนในระดับสากล

ในรอบปี 2561 องค์กรธุรกิจและหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน และตระหนักถึงการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ จะได้พบกับประเด็นใหม่ๆ ที่เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่อการขับเคลื่อนการดำเนินงานขององค์กร อาทิ หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (CG Code) ฉบับใหม่ สำหรับบริษัทจดทะเบียน หลักธรรมาภิบาลการลงทุน (I Code) ฉบับแรก สำหรับผู้ลงทุนสถาบัน มาตรฐานการรายงานแห่งความยั่งยืนฉบับใหม่ สำหรับองค์กรที่จัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามแนวทางของ GRI เป็นต้น

การประกาศ CG Code และ I Code ทั้งสองฉบับ มีผลให้บริษัทจดทะเบียนจำเป็นต้องศึกษา CG Code ฉบับใหม่ เพื่อนำไปปฏิบัติ รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลในแบบ 56-1 (ที่จะมีผลใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป) และในแบบ 69-1 (ที่จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป) รวมถึงกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันที่จะต้องทำความเข้าใจกับ I Code เพื่อพิจารณารับไปปฏิบัติตามความสมัครใจ (Voluntary) ซี่งปัจจุบัน มีบริษัทจัดการลงทุน (บลจ.) ได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะรับเอาหลักธรรมาภิบาลการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนสถาบันมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานและการลงทุน รวม 26 แห่ง * เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

หลักปฏิบัติทั้งสองฉบับ เน้นการบูรณาการประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เข้าไปอยู่ในกระบวนการทางธุรกิจของบริษัทจดทะเบียน (CG Code) และกระบวนการตัดสินใจลงทุนของผู้ลงทุนสถาบัน (I Code) ตั้งแต่การกำหนดทิศทาง กลยุทธ์ กระบวนการดำเนินงาน การติดตามและการรายงาน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และเพื่อการสร้างคุณค่าให้กิจการอย่างยั่งยืน

ทำให้ในปี 2561 ความเข้มข้นของการขับเคลื่อนความยั่งยืนจะยกระดับขึ้นตามกฎเกณฑ์จากผู้กำกับดูแล (Regulatory Discipline) ด้วยหลักการ CG Code และแรงผลักดันจากผู้มีส่วนร่วมในตลาด (Market Force) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้ลงทุนสถาบัน ด้วยหลักปฏิบัติ I Code


ในงานแถลงทิศทาง CSR ปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ยังได้จัดให้มีการเสวนาเรื่อง 'The Sphere of Sustainability' เพื่อถ่ายทอดแนวทางในการเสริมสร้างความยั่งยืนของกิจการ โดยบูรณาการแนวคิดสำคัญในด้านการกำกับดูแลกิจการ (CG) เรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) การสร้างคุณค่าร่วม (CSV) การพัฒนาที่ยั่งยืน (SD) วิสาหกิจเพื่อสังคม (SE) และธุรกิจเพื่อสังคม (SB) นำมาอธิบายเชื่อมโยงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อย่างเป็นระบบ

The Sphere of Sustainability

นายวรณัฐ เพียรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า “องค์กรธุรกิจ สามารถนำแนวคิด The Sphere of Sustainability ไปใช้ในการค้นหามณฑลแห่งความยั่งยืนขององค์กรตนเอง โดยเริ่มจากการระบุเรื่องที่อยู่ในความสนใจของผู้มีส่วนได้เสีย สิ่งที่เป็นความคาดหวัง (Expectations) ต่อการดำเนินงานในเรื่องนั้น และวิธีการเพื่อให้เกิดเป็นผลการดำเนินงาน (Performance) ซึ่งเป็นที่ยอมรับจากผู้มีส่วนได้เสียบนพื้นฐานของความคาดหวังดังกล่าว

ในการเสวนาครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมงานยังได้รับหนังสือ “มณฑลแห่งความยั่งยืน: The Sphere of Sustainability” ที่สถาบันไทยพัฒน์ จัดทำขึ้นเพื่อเป็นคู่มือในการไขความเข้าใจและความสัมพันธ์ระหว่างเรื่อง CG, ESG, CSR, CSV, SD, SE, SB อย่างเป็นระบบ มุ่งเน้นให้เกิดความเข้าใจต่อแนวคิดในเรื่องความยั่งยืนที่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่ม และให้กิจการนำแนวคิดดังกล่าวไปปฏิบัติ จนสามารถบรรลุเป้าหมายปลายทางที่เป็นความยั่งยืนของกิจการ

ผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับหนังสือ มณฑลแห่งความยั่งยืน: The Sphere of Sustainability ได้ที่สถาบันไทยพัฒน์ (ไม่มีค่าใช้จ่าย) ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ www.thaipat.org


--------------------------------------
* ประกอบด้วย บลจ. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ บลจ. วรรณ บลจ. ไทยพาณิชย์ บลจ. บัวหลวง บลจ. แอสเซท พลัส บลจ. ทหารไทย บลจ. ยูโอบี บมจ. บลจ. เอ็มเอฟซี บลจ. กสิกรไทย บลจ. สยาม ไนท์ ฟันด์ แมเนจเม้นท์ บลจ. กรุงไทย บลจ. ทาลิส บลจ. เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ บลจ. อเบอร์ดีน บลจ. เอเชีย เวลท์ บลจ. กรุงศรี บลจ. ธนชาต บลจ. ฟิลลิป บลจ. ทิสโก้ บลจ. บางกอกแคปปิตอล บลจ. เดนาลี เพรสทีจ บลจ. โซลาริส บลจ. ภัทร บลจ. แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) บลจ. ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล และ บลจ. แคปปิตอล ลิ้งค์




สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
สถาบันไทยพัฒน์ ปิยเลขา ไหล่แท้ โทร 0-2930-5227