สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดตัว Sustainability Store หรือ ร้านค้าความยั่งยืน โดยเสนอ 3 แนวทางการพัฒนาบทบาททางธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนที่ตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียและการยอมรับจากสังคมอย่างยั่งยืน
สถาบันไทยพัฒน์ เป็นสถาบันที่มีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมความยั่งยืนของกิจการ และการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมผ่านการวิจัย (Research) การฝึกอบรม (Training) และการให้คำปรึกษา (Consulting) แก่ภาคเอกชน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 จนถึงปัจจุบัน
จากการสำรวจของสถาบันไทยพัฒน์ ต่อการนำ GRI Standards มาใช้ในการจัดทำรายงานความยั่งยืนของกิจการ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 กับผู้ตอบแบบสอบถาม 87 ท่าน พบว่า ร้อยละ 67 จะนำมาตรฐาน GRI มาใช้ในรอบการดำเนินงานปี 2561 นี้ ร้อยละ 6 จะนำมาใช้ในรอบการดำเนินงานปี 2562 และร้อยละ 18 ต้องใช้เวลาเตรียมการอีกระยะหนึ่ง โดยผู้ตอบแบบสอบถาม อีกร้อยละ 8 ยังไม่แน่ใจ และร้อยละ 1 ไม่มีแผนนำมาใช้
ขณะที่ผลการสำรวจเรื่องการสนองตอบต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในการดำเนินงานขององค์กร พบว่า ร้อยละ 50 มีการบรรจุ SDGs ไว้เป็นวาระการดำเนินงานขององค์กร ร้อยละ 34 มีการตอบสนองในรูปโครงการและกิจกรรมที่อยู่นอกกระบวนหลักทางธุรกิจ และร้อยละ 12 ได้เข้าร่วมในเครือข่ายธุรกิจที่เอื้อต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG-Friendly Biz) ที่สถาบันไทยพัฒน์ริเริ่ม ส่วนอีกร้อยละ 4 ยังไม่มีแผนในการตอบสนอง โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อริเริ่มแนวทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืน และอยู่ระหว่างการพิจารณาขององค์กร
ฉะนั้นจากการที่สถาบันไทยพัฒน์ได้มีประสบการณ์จากการมีส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับองค์กรธุรกิจมานานกว่า 17 ปีนี้เอง ในปี 2561 นี้ทางสถาบันจึงได้เปิดตัว Sustainability Store โดยนำเอาเครื่องมือ และมาบรรจุไว้ในสามหมวดบริการหลัก ภายใต้ร้านค้าความยั่งยืนนี้ ได้แก่ การจัดทำกรอบความยั่งยืน (S-Framework) การประเมินระดับความยั่งยืน (S-Score) และการวางกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งรายงานความยั่งยืน (S-Report) ซึ่งทั้งสามหมวดบริการหลัก องค์กรธุรกิจสามารถเลือกใช้ตามความเหมาะสมกับสถานะของกิจการของตนเอง
S-Framework เป็นการศึกษาและทบทวนข้อมูลสถานภาพด้านความยั่งยืนในปัจจุบันของกิจการ เพื่อค้นหาประเด็นความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานขององค์กร แนวการบริหารจัดการ และตัวบ่งชี้การดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่สำคัญ สำหรับใช้ขับเคลื่อนองค์กรให้เข้าสู่วิถีการพัฒนาที่ยั่งยืน และใช้เป็นข้อมูลนำเข้าสำหรับการจัดทำยุทธศาสตร์องค์กรภายใต้บริบทความยั่งยืน
S-Score เป็นบริการที่ช่วยสอบทานสถานะความยั่งยืนของกิจการ โดยคำนึงถึงความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่มที่องค์กรเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งมีความคาดหวังและความสนใจในเรื่องที่กิจการดำเนินการแตกต่างกัน รวมทั้งการวิเคราะห์เพื่อระบุถึงสิ่งที่องค์กรควรดำเนินการ (Gap Analysis) ในแต่ละกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้เกิดเป็นผลการดำเนินงานที่นำไปสู่การยอมรับของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ
S-Report เป็นการวางกระบวนการรายงานที่ประกอบด้วยงาน 5 ระยะ (Prepare -> Connect -> Define -> Monitor -> Report) ตามข้อแนะนำขององค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (GRI) ซึ่งเน้นการบูรณาการความยั่งยืนให้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์องค์กร เพื่อสร้างให้เกิดคุณค่าที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนของกิจการจากกระบวนการรายงาน มิใช่เพื่อการมุ่งหวังเพียงแค่เอกสารหรือเล่มรายงาน
โดยวรณัฐ เพียรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ได้ตอบข้อซักถามในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนาธุรกิจให้มีความยั่งยืนกับ CSV ว่ามีนัยสำคัญอย่างไรไว้ว่า “CSV จะเป็นส่วนหนึ่งของ S-Score คือ ถ้าเราดูในส่วนของ S-Score ก็จะมีการประเมินในหลายๆ เรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคม และคุณค่าร่วม ซึ่ง CSV ก็จะอยู่ในหมวดนี้ ในเรื่องของการประเมิน Benchmark ว่า องค์กรมีการทำ CSV ได้ในระดับใดแล้ว”
นอกเหนือจากนี้ ยังได้อธิบายการวัดระดับความยั่งยืนขององค์กรไว้อย่างน่าสนใจ
“เรื่องของตัววัดความยั่งยืน อาจจะไม่ได้มีพารามิเตอร์ค่าใดค่าหนึ่ง เพียงแต่ว่าในหนึ่งองค์กรก็จะมีผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องอย่างหลากหลาย ซึ่งภายใต้ความหลากหลายตรงนี้เองอาจจะต้องไปดูว่า ผู้มีส่วนได้เสียของเขามีความคาดหวังในแต่ละเรื่องที่จะต้องมีการดำเนินงานมากน้อยแตกต่างกันอย่างไร โดยที่เราอาจจะต้องมีข้อบังคับหรือข้อปฏิบัติอะไรบางอย่างที่เหมาะสมกับเขา ซึ่งอาจจะเป็นค่า Benchmark ของอุตสาหกรรมนั้น หรือเป็นค่า Best Capacity เอามาเป็นตัวเปรียบเทียบ และอาจจะต้องวัดกับข้อปฏิบัติของเขาที่ทำได้จริงว่าระดับไหน ซึ่งตรงนี้อาจจะประเมินออกมาเป็น Gap ได้ แต่ก็อาจจะยังไม่ได้บอกว่า ถ้าเขาทำได้ดี เขาคือธุรกิจที่ยั่งยืนแล้ว ตรงนั้นอาจจะพูดไม่ได้ เพราะเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเรื่องของวิถีและช่วงระยะเวลา”
ทั้งนี้นอกจากทางสถาบันไทยพัฒน์จะมีเป้าหมายในเรื่องของตัวเลขทางธุรกิจแล้ว ก็ยังมีความมุ่งหวังด้านอื่นๆ ด้วย โดยวรณัฐ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า
“เป้าหมายของเรามุ่งหวังให้ภาคธุรกิจดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบมากขึ้น ทั้งในเชิงบวกและลบ ในส่วนของเชิงลบ เราคาดหวังว่า ให้ธุรกิจมีการบรรเทาผลกระทบเชิงลบในประเด็นความยั่งยืนต่างๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงผลกระทบเชิงบวกที่จะเอามาต่อยอด ซึ่งอาจจะไม่ใช่แค่เชิงธุรกิจเท่านั้น แต่รวมถึงสังคมด้วย ให้มีการพัฒนาไปร่วมกัน ซึ่งเป็นความมุ่งหวังของเราจากการให้บริการหลากหลายเหล่านี้ เพื่อให้ธุรกิจและสังคมเดินไปด้วยกันได้”
หากหน่วยงานและองค์กรธุรกิจใดที่สนใจพัฒนาธุรกิจให้มีความยั่งยืนทั้งทางด้านธุรกิจและสังคม สามารถเยี่ยมชม Sustainability Store ได้ทางเว็บไซต์ http://thaipat.org หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2930-5227
[Original Link]
No comments:
Post a Comment