Pages

Thursday, April 19, 2018

เส้นทาง CSR ของจริง ปิดภาพลบส่งแบรนด์ยั่งยืน


จากกระแส CSR สู่ 6 เทรนด์สร้างความยั่งยืนปีนี้ ปิดรอยรั่วองค์กรไทยสู่ CSR-In-Process ที่ต้องเริ่มต้นจากต้นน้ำ เชื่อมโยงทุกผู้มีส่วนได้เสียเข้าสู่แผนธุรกิจ ก่อนถอดบทเรียนรายงานความยั่งยืนสู่สังคม เป็น “แบรนด์ที่คนรัก”


แนวคิดการทำกิจกรรมเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR -Corporate Social Responsibility) ที่หลายธุรกิจมักดำเนินการผ่านกิจกรรมทางสังคม เช่น กิจกรรมปลูกป่า เลี้ยงอาหารกลางวันเด็ก หรือการบริจาค ฯลฯ แล้วถ่ายรูปสวยงาม ถือป้ายองค์กรบอกชาวโลกว่า ภารกิจเสร็จสิ้น จบ..!! กลับบ้าน

สุดท้ายอาจเป็นกิจกรรมที่ไม่ตอบโจทย์ความยั่งยืนใดๆ ต่อธุรกิจ บางธุรกิจไม่เกี่ยวข้องกับการทำลายสิ่งแวดล้อม ก็ยังแห่แหนชวนกันไปปลูกป่าตามกระแส อาจเป็นเพราะมองแบบแยกส่วน ขาดการมองถึงทุกผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) รอบด้าน ว่ากิจกรรม CSR ที่ทำลงไป สุดท้ายสะท้อนกลับมาแก้ไขปัญหา หรือทำให้องค์กรยั่งยืนได้อย่างไร

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวในงานทิศทาง CSR ปี 2561 และการเสวนาเรื่อง The Sphere of Sustainability ว่า สิ่งสำคัญของการทำ CSR ที่แท้จริงต้องเริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการทำธุรกิจ (CSR-In-Process)จึงจะเป็นการตอบโจทย์สร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรได้ตรงจุด

ที่ผ่านมา สถาบันไทยพัฒน์ ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ เน้นส่งเสริมความยั่งยืนของกิจการ ได้รวบรวมแนวโน้มกระบวนการพัฒนายั่งยืนในปีนี้ เป็นหลักยึดให้ภาคธุรกิจดำเนินการไปสู่การดูแลมณฑลแห่งความยั่งยืน (Sphere of Sustainability) เป็น 6 เทรนด์ประกอบด้วย

1. New CG Code จากการสร้างความเชื่อมั่น (Building Confidence) สู่การสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน (Creating Sustainable Value) เปลี่ยนจากการเน้นประโยชน์ผู้ถือหุ้น มาเป็นผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย

2. First ESG Code ก้าวสู่ธรรมาภิบาลการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตลอดกระบวนการลงทุน

3. GRI First Standards จากแนวทาง (Guidelines) สู่มาตรฐาน(Standards) การรายงานแห่งความยั่งยืน ซึ่งเริ่มประกาศใช้ฉบับใหม่ปีนี้ ซึ่งเข้มข้นขึ้น

4. New SDG Business Blueprint จากการสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือสู่การพัฒนาการนำองค์กรตามเป้าหมาย SDGs

5. Shared Value Innovation คิดค้นนวัตกรรมสร้างคุณค่าร่วมทั้งห่วงโซ่ซัพพลายเชน

6. Corporate Digizenship จากภูมิทัศน์ (Landscape) สู่ดิจิทัศน์ (Digiscope) ปรับตัวให้พร้อมรับการพัฒนาสังคมในห่วงโซ่ธุรกิจดิจิทัลทั้งทางตรงและทางอ้อม

โดยเทรนด์ทั้งหมดเริ่มเข้าสู่ประเทศไทย ด้วยแรงผลักดันจากองค์กรนอกประเทศ รวมถึงองค์กรขนาดใหญ่ในประเทศที่ตื่นตัวเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในสังกัดสหประชาชาติ (United Nations Sustainable Development Solution Network) องค์กรไทยหลายราย ประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยมีหลักเพื่อการพัฒนายั่งยืน 17 ด้าน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯและรัฐวิสาหกิจ อาทิ เซ็นทรัล, มิตรผล, บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่, บมจ.ซินเน็ค(ประเทศไทย), ธนาคารออมสิน, บมจ.แอลพีเอ็น เป็นต้น

อรจิรา ชัยบัณฑิตย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ มองสภาพการปรับตัวเพื่อจัดทำการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์กรไทยว่า ส่วนใหญ่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่เริ่มทำมายาวนาน โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจพลังงาน เพราะเป็นธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อทั้งธรรมชาติ และชุมชน จึงเริ่มต้นทำมายาวนานจนล้ำหน้าไปมากกว่าธุรกิจอื่น

ขณะที่ภาคบริการ เช่น ภาคการธนาคาร ก็เริ่มตื่นตัว ปิดจุดอ่อนของธุรกิจขนาดใหญ่ที่อยู่มายาวนานที่กำลังได้รับผลกระทบ ถูกแทนที่ด้วยคลื่นธุรกิจใหม่ๆ (Disruption)

นั่นจึงเป็นที่มาของการเข้าไปถ่ายทอดองค์ความรู้ภาคธุรกิจ ให้คิดเชิงรุกพัฒนากลไก CSR ที่เริ่มต้นจากการปิดรอยรั่ว ประเมินความเสี่ยงของตัวเอง ประกาศให้สาธารณชนได้รับทราบถึงสิ่งที่ทำ ยังดีกว่าการปล่อยให้เกิดปัญหาในเชิงลบกับองค์กร แล้วค่อยไปแก้ไขในภายหลัง

วรณัฐ เพียรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวเสริมว่า จากปัญหาดังกล่าวทำให้สถาบันฯ เปิดตัวการบริการใหม่ที่ช่วยยกระดับองค์กรธุรกิจไทยให้ก้าวไปสู่ความยั่งยืนได้จากต้นน้ำ โดยใช้ประสบการณ์ความรู้ ผลงานวิจัย และการเข้าเป็นเครือข่ายสมาชิกสถาบันหรือองค์กรที่ทำหลักเกณฑ์ความยั่งยืนในด้านที่แตกต่างกัน

เรียกบริการใหม่ว่า “ร้านค้าเพื่อความยั่งยืน” (Sustainability Store) พาองค์กรไทย ปูพรมไปสู่การจัดทำความยั่งยืนในระดับสากล ที่แม้จะมีทิศทางการทำความยั่งยืนที่หลากหลาย แต่สถาบันจะเข้าไปรวบรวม จัดกลุ่มและวิเคราะห์ระดับการทำ CSR ขององค์กรไทยให้สอดคล้องกับธุรกิจ ไม่ใช่เพียงกิจกรรม แต่จะต้องมีส่วนในการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และปิดจุดเสี่ยงปัจจุบันและในอนาคต

ประกอบด้วย 3 S คือ 1. การจัดทำกรอบความยั่งยืน (S-Framework) ศึกษาทบทวนภาพรวมของการทำความยั่งยืนในองค์กร ให้สอดคล้องกับบริบทของธุรกิจรวมถึงความพร้อมขององค์กร

“เข้าไปศึกษาพื้นฐานการดำเนินธุรกิจผลกระทบ นำความยั่งยืนมาบูรณาการเข้ากับแผนยั่งยืนองค์กรทุกด้าน”

2. ประเมินระดับความยั่งยืน (S-Score) ช่วยเช็คสุขภาพและวัดสถานะความยั่งยืนของกิจการ เพื่อที่จะวางแผนหาจุดแข็งจุดอ่อนที่ควรจะเข้าไปพัฒนาหรือแก้ไขปรับปรุง อุดรอยรั่ว (Gap analysis)

3. การวางกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งรายงานความยั่งยืน (S-Report) จัดทำการเผยแพร่กระบวนการทำงานความยั่งยืน ให้ครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสียทั้งเนื้อหาและหลักการ นำไปเผยแพร่สู่สาธารณะให้เกิดความเข้าใจและสร้างความตระหนักในความใส่ใจขององค์กร

เขายังระบุว่า จากการจัดทำรายงาน GRI Standards (รายงานความยั่งยืน) ในเดือน ก.พ. ปีนี้ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 87คน พบว่า 67% ต้องการนำกรอบ GRI ไปดำเนินการในปีนี้ และสัดส่วน 6% จะนำไปใช้ในปี 2562 และอีก 18% ยังต้องใช้เวลาสักระยะจึงดำเนินการ ยังมีสัดส่วน 8% ที่ไม่แน่ใจ โดยเหลือเพียง 1% ที่ระบุว่าไม่มีแผนนำมาใช้

ส่วนการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มาใช้ในองค์กรพบว่า 50% นำมาเป็นวาระการดำเนินงานขององค์กร สัดส่วน 34% นำไปสู่การจัดทำโครงการและกิจกรรมของธุรกิจ และอีก 12% ได้เข้าร่วมเครือข่ายธุรกิจเอื้อต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG-Friendly Biz) ที่สถาบันไทยพัฒน์ริเริ่ม ที่เหลือสัดส่วน 4% ยังไม่มีแผนทำ SDGs

“จากผลสำรวจถือว่าองค์กรไทยยังตื่นตัวมาก แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีสัดส่วนที่ยังขาดความรู้และความพร้อมในด้านดังกล่าวอยู่มากเช่นกัน”

ขณะที่เทรนด์ทั้งประเทศทั่วโลก มุ่งไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น หากธุรกิจไม่ต้องการตกขบวนหรือเจอวิกฤติแบรนด์ในภายหลัง ควรเริ่มจัดวางกลยุทธ์ทิศทางองค์กรที่จะมุ่งสู่ความยั่งยืน โดยการมองธุรกิจไปข้างหน้าในช่วง 3-5 ปี แล้วค่อยปรับไปทีละขั้นตอนจนเข้าสู่มาตรฐานสากล


[Original Link]

No comments:

Post a Comment