ไทยพัฒน์ฯ จัดทัพใหม่ เปิด Sustainability Store เสนอ 3 บริการครบวงจร
สถาบันไทยพัฒน์ จัดทัพใหม่เปิดตัว Sustainability Store หรือ ร้านค้าความยั่งยืน เสนอ 3 บริการเพื่อกรุยทางให้บริษัทจดทะเบียนเดินไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ชี้ปีนี้บจ.จะหันมาสนใจยกระดับองค์การในเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น
นับเป็นเวลา 17 ปีแล้วที่สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้ามามีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมความยั่งยืนของกิจการ และการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมผ่านการวิจัย (Research) การฝึกอบรม (Training) และการให้คำปรึกษา (Consulting) แก่ภาคเอกชน
วรณัฐ เพียรธรรม ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ กล่าวถึงทิศทางของสถาบันไทยพัฒน์ในปี 2561 ว่า
“ปีนี้เราจะเริ่มใช้กลยุทธเชิงรุกเพื่อนำเสนอว่าเรามีบริการอะไรบ้าง เนื่องจากบริษัทขนาดกลางและเล็กที่เพิ่งเข้ามาใตลาดหลักทรัพย์ไม่รู้ว่าจะสามารถยกระดับการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างไรได้บ้าง เราจึงมุ่งเป้าสื่อสารให้บริษัทเหล่านี้รับทราบว่าเรามีบริการอะไรที่สามารถสนับสนุนให้กลุ่มบริษัทของเขาที่ต้องการยกระดับสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”
ทั้งนี้ ในเรื่องความยั่งยืนนั้น องค์กรทั่วไปสนใจเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันมากที่สุด รองลงมาคือเรื่องก๊าซเรือนกระจก และเป้าหมายเกี่ยวกับ SDGs 17 ข้อ พบว่ากว่า 50 % มีการบรรจุเกี่ยวกับเรื่อง SDGs เข้าไปสู่ธุรกิจหลักขององค์กร และ 30% แทรกซึมอยู่ในกิจกรรมเพื่อสังคม แต่อย่างไรก็ตามจะสนใจกิจกรรมด้านใดต้องขึ้นอยู่กับธุรกิจหลักว่าเกี่ยวกับเรื่องใดบ้าง
จากประสบการที่สั่งสมในฐานะที่ปรึกษาขององค์กรต่าง ๆ โดยนำเครื่องมือและประสบการณ์ที่ได้มีส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับองค์กรธุรกิจนานกว่า 17 ปี มาบรรจุไว้ใน 3 หมวดบริการหลัก ภายใต้ Sustainability Store ได้แก่
S-Framework เป็นการศึกษาและทบทวนข้อมูลสถานภาพด้านความยั่งยืนในปัจจุบันของกิจการ เพื่อค้นหาประเด็นความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานขององค์กร แนวการบริหารจัดการ และตัวบ่งชี้การดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่สำคัญ สำหรับใช้ขับเคลื่อนองค์กรให้เข้าสู่วิถีการพัฒนาที่ยั่งยืน และใช้เป็นข้อมูลนำเข้าสำหรับการจัดทำยุทธศาสตร์องค์กรภายใต้บริบทความยั่งยืน
S-Score เป็นบริการที่ช่วยสอบทานสถานะความยั่งยืนของกิจการ โดยคำนึงถึงความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่มที่องค์กรเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งมีความคาดหวังและความสนใจในเรื่องที่กิจการดำเนินการแตกต่างกัน รวมทั้งการวิเคราะห์เพื่อระบุถึงสิ่งที่องค์กรควรดำเนินการ (Gap Analysis) ในแต่ละกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้เกิดเป็นผลการดำเนินงานที่นำไปสู่การยอมรับของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ
S-Report เป็นการวางกระบวนการรายงานที่ประกอบด้วยงาน 5 ระยะ (Prepare -> Connect -> Define -> Monitor -> Report) ตามข้อแนะนำขององค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (GRI) ซึ่งเน้นการบูรณาการความยั่งยืนให้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์องค์กร เพื่อสร้างให้เกิดคุณค่าที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนของกิจการจากกระบวนการรายงาน มิใช่เพื่อการมุ่งหวังเพียงแค่เอกสารหรือเล่มรายงาน
วรณัฐกล่าวสรุปถึงสัดส่วนของ 3 บริการว่า ในส่วนของ S-Report มีบริษัทมาใช้บริการมากที่สุด แต่ในอนาคตคาดว่า S-Framework ก็น่าจะมีคนเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น ตามสัดส่วนของบริษัทจุดทะเบียนที่เข้ามาใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนบริการ S-Score น่าจะมีบทบาทและต่อยอดให้กับธุรกิจที่เคยเดินหน้าเรื่องความยั่งยืนไปก่อนหน้านี้ เช่น กลุ่มพลังงาน
ส่วนแนวโน้มขององค์กรธุรกิจเมืองไทยที่เริ่มหันมาให้ความสนใจกับกิจกรรมัฒนาความยั่งยืนมีมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่ององค์กรอย่างไรนั้น วรณัฐ กล่าวสรุปว่า
“ผลลัพธ์ขององค์กรที่สนใจนำเรื่องการพัฒนาความยั่งยืนเข้าไปใช้ มีอยู่ 3 เรื่องคือ เพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่ายและลดความเสี่ยงในอนาคต เพราะเนื้อหาของความยั่งยืนสามารถทำให้องค์กรมีมุมมองที่กว้างขึ้น จะเห็นว่าเมื่อ 10 กว่าปีก่อน จะมีกลุ่มพลังงานที่ให้ความสนใจเรื่องการพัฒนาความยั่งยืน เพราะเป็นองค์กรที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด แต่ปัจจุบันภาคบริการ เช่นธนาคารก็เริ่มหันมาให้ความสนใจเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น”
[Original Link]