หุ้นยั่งยืน ESG100
เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา (17 พ.ค.) สถาบันไทยพัฒน์ โดยหน่วยงาน ESG Rating ได้ประกาศรายชื่อบริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance) ติดอันดับ ESG100 ประจำปี 2561 เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีคุณภาพ และได้รับผลตอบแทนที่มิได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป
การจัดอันดับหลักทรัพย์กลุ่ม ESG100 รอบนี้ ถือเป็นปีที่สี่ของการประเมินด้วยการคัดเลือกจาก 683 บริษัทจดทะเบียน (ไม่รวมหลักทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟู) ทำการประเมินโดยใช้ข้อมูลที่เกี่ยวกับ ESG จาก 6 แหล่ง จำนวนกว่า 12,648 จุดข้อมูล ตามที่บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยต่อสาธารณะ ผ่านรายงานแห่งความยั่งยืน รายงานประจำปี หรือในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) โดยไม่ใช้แบบสำรวจข้อมูลหรือแบบสอบถามใดๆ เพิ่มเติม
การประเมินในปีนี้ ได้มีการพิจารณาข้อมูลทั้งการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) และผลประกอบการของบริษัทควบคู่ไปพร้อมกัน โดยใช้เรตติ้งโมเดลที่พัฒนาขึ้นจากหลักการแนวทางตามมาตรฐานการประเมินความยั่งยืนของ GISR (Global Initiative for Sustainability Ratings) ทำให้หลักทรัพย์กลุ่ม ESG100 สามารถตอบโจทย์ทั้งผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุน
การประเมินหลักทรัพย์ ESG100 ประกอบด้วยเกณฑ์เบื้องต้นสำหรับการคัดกรอง (Screening Criteria) และเกณฑ์หลักสำหรับการประเมิน (Rating Criteria) โดยเกณฑ์เบื้องต้นสำหรับการคัดกรอง ประกอบด้วย ผลการดำเนินงานของบริษัทต้องมีผลประกอบการที่เป็นกำไรติดต่อกันสองรอบปีบัญชีล่าสุด การปลอดจากการกระทำความผิดโดยที่บริษัทหรือคณะกรรมการหรือผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ต้องไม่ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษหรือเปรียบเทียบปรับในรอบปีประเมิน และการกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) ของบริษัทเป็นไปตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด
ส่วนเกณฑ์หลักสำหรับการประเมิน ประกอบด้วย การพิจารณาประเด็นด้าน ESG ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อศักยภาพการเติบโตของอุตสาหกรรม การพิจารณาวิธีการที่บริษัทใช้ระบุและจัดการกับโอกาสและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้าน ESG และการพิจารณาประเด็นด้าน ESG ที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการขององค์กร เพื่อให้สะท้อนผลตอบแทนการลงทุนหรือตัวเลขผลประกอบการที่สัมพันธ์กับการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัท และสามารถตอบโจทย์ผู้ลงทุนในมิติของการลงทุนที่ยั่งยืนว่า บริษัทที่มี ESG ดี จะสามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่ดีด้วย
ผลการคัดเลือกบริษัทจดทะเบียนที่เข้าอยู่ในยูนิเวิร์สของ ESG100 ปีนี้ มีบริษัทจดทะเบียนที่ติดอันดับ จำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรมทั้ง 8 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร 10 บริษัท กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค 6 บริษัท กลุ่มธุรกิจการเงิน 12 บริษัท กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม 14 บริษัท กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง 10 บริษัท กลุ่มทรัพยากร 16 บริษัท กลุ่มบริการ 23 บริษัท และกลุ่มเทคโนโลยี 9 บริษัท โดยในจำนวนนี้ มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาด mai เข้าอยู่ใน ESG100 อยู่ด้วยจำนวน 10 บริษัท
ทั้งนี้ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) รวมกันของหลักทรัพย์ ESG100 มีมูลค่าราว 12.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 69.4 เมื่อเทียบกับมาร์เกตแคปรวมของตลาด (SET+mai) ที่ 17.9 ล้านล้านบาท
เมื่อนำกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 มาใช้เป็นฐานในการพัฒนาแบบจำลอง เพื่อทดสอบความสามารถในการให้ผลตอบแทน โดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี พบว่า หุ้นใน ESG100 จะให้ผลตอบแทนที่ 81.03% ขณะที่หุ้นในดัชนี SET จะให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 27.90% ส่วนหุ้นในดัชนี SET100 จะให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 25.74% และหุ้นในดัชนี SET50 จะให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 27.24% แสดงให้เห็นว่า หุ้นกลุ่ม ESG100 สามารถให้ผลตอบแทนชนะตลาด อยู่ประมาณ 3 เท่า
สำหรับผลการทดสอบการให้ผลตอบแทน โดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี พบในทำนองเดียวกันว่า หุ้นใน ESG100 จะให้ผลตอบแทนที่ 673% ขณะที่หุ้นในดัชนี SET จะให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 200.96% ส่วนหุ้นในดัชนี SET100 จะให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 177.61% และหุ้นในดัชนี SET50 จะให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 172.09%
ในกลางปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ จะมีการเผยแพร่ ESG Index เพื่อใช้เป็นดัชนีอ้างอิงสำหรับเป็นทางเลือกของการลงทุนที่ยั่งยืนในตลาดทุนไทย คล้ายกับในต่างประเทศ ที่มีดัชนีประเภทดังกล่าวใช้อ้างอิงอยู่อย่างแพร่หลาย อาทิ S&P Global 1200 ESG Factor Weighted Index, FTSE ESG Indexes, MSCI ESG Leaders Indexes, Russell 1000 ESG Index เป็นต้น
ผู้ลงทุนที่สนใจข้อมูลหลักทรัพย์จดทะเบียนในกลุ่ม ESG100 สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.esgrating.com
[Original Link]