เมื่อวันอังคาร (17 ก.ค.) ที่ผ่านมา สภาหอการค้านานาชาติ (ICC) สำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่ง สหประชาชาติ (UN DESA) และ องค์การว่าด้วยข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) ได้ร่วมกันจัดงาน SDG Business Forum ประจำปี ค.ศ.2018 ขึ้น ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
การประชุมนี้ ถูกจัดขึ้นเป็นปีที่สาม นับจากที่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ได้ประกาศใช้เมื่อปี ค.ศ. 2015 โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (HLPF) และมีกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่ายจากหลายภาคส่วน เข้าร่วมเกือบ 600 คน
สามปีหลังจาก SDGs พบว่า ภาคธุรกิจกว่าร้อยละ 60 ทั่วโลก ยังมิได้เข้าร่วมขบวนของการขับเคลื่อนไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ เราจะไม่สามารถบรรลุ SDGs ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้
ในที่ประชุม ได้มีการหารือถึงหนทางที่เน้นการลงมือปฏิบัติ (Action-oriented) ในระดับท้องถิ่น ที่ไม่จำกัดเฉพาะองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ต้องสานความร่วมมือให้ถึงระดับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และมีการเน้นคุณค่าของการสร้างหุ้นส่วนดำเนินงาน เพื่อเป็นตัวเร่งความก้าวหน้าของการดำเนินงานให้ได้ตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี ค.ศ.2030
นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอเครื่องมือ แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ อย่างกว้างขวาง เพื่อเป็นแนวทางให้ประชาคมธุรกิจทั่วโลก ได้นำไปปรับใช้ โดยไม่จำกัดขนาด สาขา และภูมิภาคอันเป็นถิ่นที่ตั้งของธุรกิจ
ในการประชุม HLPF สมัยนี้ มี 47 ประเทศ ที่ได้นำเสนอผลการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 ในระดับชาติ โดยสมัครใจ (Voluntary National Review – VNR) เพื่อรายงานความคืบหน้าที่สำคัญในการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศตน
เกือบร้อยละ 40 ของประเทศที่นำเสนอรายงาน VNR ระบุว่า ภาคเอกชนในประเทศของตน ได้มีส่วนในการสนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs ของประเทศ ขณะที่เกือบทุกประเทศที่นำเสนอรายงาน ได้มีภาคเอกชนเข้าร่วมในกระบวนการทบทวนผลการดำเนินงาน และได้มีการหารือกับผู้แทนของภาคธุรกิจในการจัดเตรียมรายงานระดับชาติฉบับดังกล่าว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่า รัฐบาลของประเทศที่นำเสนอรายงาน ได้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม รวมถึงภาคธุรกิจ และถือเป็นเรื่องปกติสำหรับการประเมินความก้าวหน้าตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
โดยในรายงานของประเทศเอกวาดอร์ กรีซ เลบานอน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอุรุกวัย ได้บรรจุเนื้อหาที่เป็นการดำเนินงานของภาคเอกชนไว้เป็นการเฉพาะ มีตัวอย่างของการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน และแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืน ที่มีส่วนสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ขณะที่ รายงานของบางประเทศ ได้ตระหนักถึงบทบาทของ SMEs ที่ทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยราวร้อยละ 40 ของประเทศที่รายงาน ได้มีการระบุถึงมาตรการในการเพิ่มบทบาทของ SMEs ต่อการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ในรายงานของประเทศโคลอมเบีย ได้เริ่มมีการวิเคราะห์ข้อมูลทางธุรกิจ ที่แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในผลกระทบโดยรวม และการสนับสนุนช่วยเหลือของภาคเอกชนในประเทศ ที่มีต่อการขับเคลื่อน SDGs โดยภาครัฐได้ดำรงบทบาทอำนวยการในการเก็บรวบรวมข้อมูลทางธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ SDGs เผยแพร่ตามมาตรฐานขององค์กรแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (GRI) และบรรจุไว้ในรายงานระดับชาติ
นอกจากนี้ มี 13 ประเทศที่รายงาน ได้ระบุถึงความก้าวหน้าในเป้าหมายย่อยที่ 12.6 ซึ่งเกี่ยวกับความยั่งยืนและการรายงาน ที่มีความมุ่งประสงค์ในการผลักดันให้กิจการ โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ รับข้อปฏิบัติที่ยั่งยืนไปดำเนินการ และผนวกข้อมูลด้านความยั่งยืนเข้าไว้ในรอบการรายงานประจำปีของบริษัท
ในบทสรุปของการประชุม HLPF ได้เรียกร้องให้มีการสะท้อนถึงวิธีการในการผนวกบทบาทของธุรกิจในทุกขนาดและทุกที่ในโลก เพื่อเร่งให้เกิดการแปรเปลี่ยนไปสู่สังคมที่ยั่งยืนและพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลง ตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนในอีก 12 ปีข้างหน้าให้ได้ตามกำหนด
[Original Link]
No comments:
Post a Comment