ปัจจุบัน คำว่า ESG (Environmental, Social and Governance) ได้ถูกนำมาใช้ในแวดวงการประเมินสถานะของกิจการในประเทศไทย โดยเฉพาะกับบริษัทจดทะเบียน ที่เป็นเป้าหมายของการลงทุนในตลาดทุน เพื่อให้ผู้ลงทุนได้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนที่รอบด้าน ในมิติที่มิใช่ข้อมูลตัวเลขทางการเงิน ทำให้สามารถล่วงรู้หรือคาดการณ์ถึงผลประกอบการในอนาคตของบริษัท เพิ่มเติมจากข้อมูลทางการเงิน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผลประกอบการในอดีตหรือที่ผ่านมาแล้ว
เพื่อเป็นการตอบโจทย์การลงทุนที่ยั่งยืน พร้อมกับการสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่มิได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะผู้บุกเบิกการพัฒนาข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจ และเป็นผู้จัดทำข้อมูลบริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล 100 อันดับ หรือที่เรียกว่ากลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 ได้จัดทำ “Thaipat ESG Index” หรือ ดัชนีอีเอสจี สำหรับผู้ลงทุนได้ใช้ประโยชน์ทั้งในแบบที่เป็น Benchmark Index และ Investable Index
กรณีที่ใช้เป็นดัชนีเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุน (Benchmark Index) ผู้ลงทุนสามารถใช้ดัชนีดังกล่าว เพื่อประเมินว่า การลงทุนในกองทุนหรือในพอร์ตหลักทรัพย์ของตน ที่เป็นการลงทุนเชิงรุก (Active Investment) มีผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจ จากการบริหารของผู้จัดการกองทุน หรือจากการตัดสินใจซื้อขายของตัวท่านเองในฐานะที่เป็นเจ้าของเงินลงทุนหรือไม่ เมื่อเทียบกับการลงทุนเชิงรับ (Passive Investment) ซึ่งลงทุนตามดัชนี โดยที่หลักทรัพย์ซึ่งเป็นองค์ประกอบของดัชนี ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเคลื่อนไหวบ่อยครั้ง และมีค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่า
กรณีที่ใช้เป็นดัชนีอ้างอิงสำหรับการลงทุน (Investable Index) สถาบันการเงินจะนำดัชนีมาใช้ออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ เช่น กองทุนส่วนบุคคล กองทุนรวม กองทุนเปิดที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (ETF) หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทจัดการที่จะนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ เพื่อสร้างดอกผลให้กับกองทุน ฯลฯ โดยให้ความสำคัญกับหลักทรัพย์คุณภาพที่ผ่านเกณฑ์ด้าน ESG ของผู้ประเมิน
ชุดดัชนี Thaipat ESG Index ประกอบด้วย ดัชนีผลตอบแทนราคา (Price Return: PR) ดัชนีผลตอบแทนรวม (Total Return: TR) และดัชนีผลตอบแทนรวมสุทธิ (Net Total Return: NTR) โดยมี S&P Dow Jones เป็นผู้คำนวณและเผยแพร่ข้อมูลดัชนี ผ่านหน้าจอ Bloomberg และ Reuters ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วโลก
Thaipat ESG Index เป็นดัชนี ESG แรกในประเทศไทย ที่ใช้การคำนวณดัชนีด้วยวิธีถ่วงน้ำหนักหลักทรัพย์เท่ากัน (Equal Weighed Index) คือ ให้ความสำคัญกับหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของดัชนีเท่ากันทุกหลักทรัพย์ เพื่อให้สะท้อนความเปลี่ยนแปลงราคาของแต่ละหลักทรัพย์ในดัชนีได้อย่างชัดเจน โดยไม่ขึ้นกับขนาดของหลักทรัพย์ และด้วยการขจัดปัจจัยในเรื่องขนาดหรือความใหญ่ของหลักทรัพย์ จะทำให้ดัชนีสามารถสะท้อนความเคลื่อนไหวของราคาหลักทรัพย์ (ที่มีความสัมพันธ์กับผลประกอบการ) ได้อย่างเท่าเทียมกันในทุกหลักทรัพย์ และทำให้โอกาสที่หลักทรัพย์คุณภาพขนาดเล็กที่ผ่านเกณฑ์ด้าน ESG สามารถส่งผลต่อค่าของดัชนีได้ ในสัดส่วนที่เท่ากับหลักทรัพย์ขนาดใหญ่
ทั้งนี้ จากข้อมูลของ MSCI ระบุว่า ความเคลื่อนไหวของดัชนี MSCI ชนิดถ่วงน้ำหนักเท่ากัน (Equal Weighed Index) ในช่วงธันวาคม ปี ค.ศ.2000 ถึงกลางปี ค.ศ.2015 ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าดัชนีชนิดถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าตามราคาตลาด (Market Capitalization Weighted Index) อย่างมีนัยสำคัญ
Thaipat ESG Index ใช้ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2558 ซึ่งเป็นข้อมูลการจัดอันดับหลักทรัพย์กลุ่ม ESG100 นับตั้งแต่ปีแรกของการประเมิน เป็นวันฐาน (Base Date) ของการคำนวณดัชนี โดยกำหนดค่าฐาน (Base Value) ที่ 100 จุด โดยมีหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกดัชนี Thaipat ESG Index ปี 2561 จำนวน 58 หลักทรัพย์ และจะมีการทบทวนรายชื่อหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกในดัชนีทุกปี ตามรอบของการประเมินและจัดอันดับหลักทรัพย์กลุ่ม ESG100 ประจำปี
ผลตอบแทนของดัชนี Thaipat ESG Index TR (THAIESGT) นับตั้งแต่วันฐาน จนถึงปัจจุบัน (28 กันยายน 2561) ให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 10.07% ต่อปี มากกว่าดัชนี Dow Jones Sustainability Emerging Markets Index NTR (DJSEMUN) ที่มีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 6.08% ต่อปี
ผู้ลงทุนสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของชุดดัชนี Thaipat ESG Index ทั้งดัชนีผลตอบแทนราคา (PR) ดัชนีผลตอบแทนรวม (TR) และดัชนีผลตอบแทนรวมสุทธิ (NTR) ผ่านทางหน้าจอ Bloomberg และ Reuters ได้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูล Factsheet, Performance, Constituents, Characteristics, Sector Breakdown สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ S&P Dow Jones' Custom Indices
[Original Link]
No comments:
Post a Comment