Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ไทยพัฒน์ แถลงทิศทาง CSR ปี 62

ชู “คุณค่า” และ “ผลกระทบ” สร้างพลังแห่งความยั่งยืน


สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศแนวโน้ม CSR ปี 62 ใน 6 ทิศทางสำคัญ พร้อมชูประเด็น “คุณค่า” และ “ผลกระทบ” เป็นเงื่อนไขสำคัญของการสร้างพลังแห่งความยั่งยืน


ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ ได้กล่าวในงานแถลงทิศทาง CSR ปี 2562 ที่จัดขึ้นวันนี้ (26 กุมภาพันธ์ 2562) ว่า “เรื่อง Value x Impact ถือเป็นแนวทางหลักของการทำ CSR สำหรับองค์กรที่ต้องการได้ประโยชน์เต็มจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อสร้างให้เกิดเป็นคุณค่าทั้งต่อสังคมและต่อกิจการ สามารถดำรงสถานะการเติบโตกิจการ และคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ของกิจการ ในการสร้างผลกระทบเชิงบวก และบรรเทาผลกระทบเชิงลบที่มีน้ำหนักเพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น รวมทั้งการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว

ในปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการประเมินทิศทางความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ภายใต้รายงานที่มีชื่อว่า 6 ทิศทาง CSR ปี 2562: The Power of Sustainability เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับหน่วยงานและองค์กรธุรกิจในการใช้เป็นแนวทางการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม ภายใต้ธีม Value x Impact ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรและความคาดหวังของสังคมควบคู่ไปพร้อมกัน

ในงานแถลงทิศทาง CSR ปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ยังได้จัดให้มีการเสวนาเรื่อง 'Value x Impact: The Power of Sustainability' เพื่ออัปเดต 2 เครื่องมือและวิธีการสำคัญ ในการเพิ่มคุณค่าและผลกระทบจากการทำ CSR ในบริบทที่มุ่งสู่ความยั่งยืน ได้แก่ Value Driver Model (VDM) และ Impact Management (IM) ให้แก่ผู้เข้าร่วมงานในครั้งนี้ด้วย

นายวรณัฐ เพียรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า “องค์กรธุรกิจ สามารถหยิบเครื่องมือ Value Driver Model มาใช้โดยเริ่มจากการสำรวจสิ่งที่องค์กรดำเนินการซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับความยั่งยืน นำมาจัดหมวดหมู่ตามที่เครื่องมือ VDM แนะนำ ได้แก่ การเติบโตของรายได้จากผลิตภัณฑ์ บริการ และ/หรือ กลยุทธ์ที่ใช้เรื่องความยั่งยืนเป็นฐานในการพัฒนา (Sustainability-Growth หรือ S/G) การประหยัดต้นทุนจากการดำเนินงานปรับปรุงผลิตภาพ ที่ขับเคลื่อนด้วยความริเริ่มด้านความยั่งยืน (Sustainability-Productivity หรือ S/P) และการลดความเสี่ยงที่เกี่ยวเนื่องกับความยั่งยืน ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อผลประกอบการขององค์กรอย่างมีนัยสำคัญ (Sustainability-Risk Management หรือ S/R) เพื่อระบุถึงช่องว่าง (Gap) ที่องค์กรยังมิได้ดำเนินการ หรือที่สามารถดำเนินการได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างคุณค่าให้แก่กิจการในระยะยาว

นายฌานสิทธิ์ ยอดพฤติการณ์ วิทยากรสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวเสริมถึงการใช้เครื่องมือ Impact Management ว่า “กิจการสามารถใช้เครื่องมือ IM ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของหลายฝ่ายภายใต้กลุ่ม Impact Management Project ในการระบุว่าผลที่สร้างขึ้นอันไหนที่มีความสำคัญ และข้อมูลอะไรที่กิจการสามารถรวบรวมสำหรับประเมินสมรรถนะของผลที่มีความสำคัญเหล่านั้น เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการผลนั้นๆ ด้วยการประเมินผลกระทบใน 5 มิติ ได้แก่ มิติ What มีผลลัพธ์อะไรที่สัมพันธ์กับผลที่สร้างขึ้นจากกิจการ และมีความสำคัญอย่างไรต่อผู้คนและโลก มิติ Who ใครบ้างที่เป็นผู้ได้รับผล และเป็นกลุ่มผู้ที่ต้องการผลลัพธ์นี้มากน้อยเพียงใด มิติ How Much ผลที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวมีนัยสำคัญมากน้อยเพียงใด มิติ Contribution กิจการมีส่วนในผลที่เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด และมิติ Risk มีความเสี่ยงอะไรและอย่างไร (ต่อผู้คนและโลก) หากผลไม่เป็นไปดังหวัง

ในการเสวนาครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมงานยังได้รับหนังสือ “พลังแห่งความยั่งยืน: The Power of Sustainability” ที่สถาบันไทยพัฒน์ จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการใช้เครื่องมือ Value Driver Model และ Impact Management ในการเพิ่มคุณค่าและผลกระทบจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมมาใช้ตอบโจทย์ความยั่งยืน และเสริมสร้างผลประกอบการในระยะยาวให้แก่กิจการ

ผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับหนังสือ พลังแห่งความยั่งยืน: The Power of Sustainability ได้ที่สถาบันไทยพัฒน์ (ไม่มีค่าใช้จ่าย) ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ www.thaipat.org



สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
สถาบันไทยพัฒน์ ปิยเลขา ไหล่แท้ โทร 0-2930-5227