การลงทุนเพื่อผลลัพธ์ทางสังคม
เมื่อสามปีที่แล้ว สถาบันไทยพัฒน์ได้นำแนวคิดการลงทุนที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Investment มาใช้ริเริ่มจัดตั้งกองทุนที่ลงทุนในตราสารทุน หรือหลักทรัพย์จดทะเบียนของบริษัทที่มีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) เพื่อสะสมดอกผลที่ได้รับจากการลงทุนระยะยาว มาใช้ในกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) โดยไม่กระทบกับเงินลงทุนตั้งต้น
ปัจจุบัน กองทุน ESG ที่เกิดขึ้นจากแนวคิดดังกล่าว ได้ให้ดอกผลแก่องค์กรผู้ลงทุนที่สามารถนำไปใช้ในกิจกรรม CSR ของบริษัท ได้ตามเจตนารมณ์
ในปี พ.ศ.2562 นี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้ต่อยอดแนวคิดการลงทุนที่ยั่งยืนไปอีกขั้น ด้วยแนวคิดการลงทุนเพื่อผลลัพธ์ทางสังคม หรือ Social Outcome Investment โดยเป็นการลงทุนระยะยาวผ่านกองทุน ESG เพื่อส่งมอบดอกผลให้กับวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) หรือองค์กรภาคประชาสังคม (Civil Society Organization: CSO) ที่องค์กรผู้ลงทุนคัดเลือกเป็นคู่ความร่วมมือหรือหุ้นส่วนดำเนินงาน สำหรับนำไปใช้พัฒนาหรือแก้ไขปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรลุผลลัพธ์ทางสังคม ตามที่เห็นพ้องร่วมกัน
แนวคิดการลงทุนเพื่อผลลัพธ์ทางสังคม เป็นการลงทุนโดยที่เงินต้นไม่สูญไปเหมือนในกรณีเงินบริจาคแบบให้เปล่า และองค์กรผู้ลงทุนจะได้รับเงินลงทุนคืนตามเงื่อนเวลาที่ตกลงกัน (เช่น เมื่อครบกำหนด 3 ปี จากมูลค่าหน่วยลงทุนขณะนั้น) ขณะที่ดอกผลที่ได้จากกองทุน ESG จะนำไปใช้เป็นทรัพยากรในการทำงานโดยวิสาหกิจเพื่อสังคมหรือองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อพัฒนาบริการให้สนองความต้องการของสังคมกลุ่มเป้าหมาย ในการบรรลุผลลัพธ์ทางสังคมที่คาดหวัง ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือกับองค์กรผู้ลงทุน
ทั้งนี้ ระดับการมีส่วนร่วมขององค์กรผู้ลงทุนในการดำเนินงานกับวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือองค์กรภาคประชาสังคมที่เป็นคู่ความร่วมมือ จะสัมพันธ์กับขีดความสามารถในการใช้สินทรัพย์และความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ขององค์กร ในการตอบสนองต่อประเด็นทางสังคมดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นอกจากนี้ วิสาหกิจเพื่อสังคมหรือองค์กรภาคประชาสังคม จะมีพื้นที่การดำเนินงานที่เอื้อให้เกิดผลลัพธ์ทางสังคมที่คาดหวังเพิ่มเติมจากเดิม และเป็นโอกาสในการสร้างการยอมรับจากสังคมในวงกว้างอีกทางหนึ่ง
ผลได้จากการดำเนินงานในโครงการลงทุนเพื่อผลลัพธ์ทางสังคม จะเป็นการยกระดับจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ หรือ Corporate Social Responsibility (CSR) ไปสู่การเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างกิจการกับสังคม หรือ Corporate Social Partnership (CSP) เพื่อส่งมอบผลลัพธ์ทางสังคมที่คาดหวังด้วยการทำงานร่วมกัน แตกต่างจากเดิมที่ต่างฝ่ายต่างทำงาน และมิได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ร่วมกัน
ตัวอย่างความริเริ่มที่สามารถใช้กลไกการลงทุนเพื่อผลลัพธ์ทางสังคม มาสนับสนุนการทำงาน ได้แก่ การจัดตั้งกองทุนพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ SE Development Fund สำหรับองค์กรผู้ลงทุนที่ต้องการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมในสังกัดขององค์กรตนเอง หรือวิสาหกิจเพื่อสังคมอื่นทั่วไป ด้วยการใช้ดอกผลจากการลงทุนเพื่อผลลัพธ์ทางสังคม เป็นทุนสำหรับส่งเสริมการพัฒนาหรือสนับสนุนการดำเนินงานของวิสาหกิจเพื่อสังคมที่เป็นกิจการเป้าหมาย เพื่อให้สามารถพัฒนาสินค้าและบริการที่สนองความต้องการได้ตามวัตถุประสงค์ทางสังคมของกิจการ ภายใต้ข้อตกลงระหว่างองค์กรผู้ให้ทุนกับวิสาหกิจเพื่อสังคมในระยะเวลาที่กำหนดร่วมกัน
อีกหนึ่งตัวอย่างความริเริ่ม ได้แก่ การรับประกันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Insuring SDGs สำหรับธุรกิจประกัน ในการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการรับประกันการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโครงการที่ผ่านการประเมินโอกาส/ความเสี่ยงในการดำเนินงาน โดยใช้ดอกผลจากการลงทุนเพื่อผลลัพธ์ทางสังคมเป็นทุนในการสำรองค่าสินไหมทดแทน ในกรณีที่โครงการไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ แต่หากโครงการดำเนินงานไปได้ด้วยดีตามวัตถุประสงค์ กิจการสามารถมีรายได้จากเบี้ยรับที่เกิดจากกรมธรรม์ ซึ่งเป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบเพื่อตอบสนองโอกาสที่มากับ SDGs
สถาบันไทยพัฒน์ ได้ร่วมกับ บลจ.แอล เอช ฟันด์ จัดตั้งกองทุนเปิด แอล เอช หุ้นไทย ESG เพื่อใช้เป็นกลไกการลงทุนเพื่อผลลัพธ์ทางสังคม โดยมีนโยบายที่จะลงทุนในตราสารแห่งทุนเพื่อให้สามารถสร้างผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับดัชนีผลตอบแทนรวม อีเอสจี ไทยพัฒน์ หรือ Thaipat ESG Index (TR) และสามารถนำดอกผลที่ได้รับจากการลงทุน มาใช้เป็นทรัพยากรในการทำงานของวิสาหกิจเพื่อสังคมหรือองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อพัฒนาบริการให้สนองความต้องการของสังคมกลุ่มเป้าหมาย ในการบรรลุผลลัพธ์ทางสังคมที่คาดหวังร่วมกัน
บริษัทหรือองค์กรธุรกิจที่สนใจ สามารถเข้าร่วมเป็นผู้บุกเบิกการลงทุนเพื่อผลลัพธ์ทางสังคม ผ่านทางกองทุนเปิด แอล เอช หุ้นไทย ESG โดยจะทำการเสนอขายครั้งแรก (IPO) ระหว่างวันที่ 18 - 27 มี.ค.2562 นี้
สำหรับวิสาหกิจเพื่อสังคมหรือองค์กรภาคประชาสังคม ที่สนใจเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนดำเนินงาน สามารถแนะนำหรือจับคู่ความร่วมมือกับองค์กรผู้เป็นเจ้าของทุนที่ตนรู้จัก เพื่อใช้กลไกการลงทุนดังกล่าว สะสมดอกผลไปใช้พัฒนาหรือแก้ไขปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรลุผลลัพธ์ทางสังคม ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
[Original Link]