Pages

Sunday, April 28, 2019

การลงทุนเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก


จากข้อมูลการสำรวจ 2018 Global Sustainable Investment Review ของ Global Sustainable Investment Alliance (GSIA) ภาคีระดับโลก ที่ประกอบด้วย หน่วยงานสกุล SIF (Sustainable Investment Forum) และสมาคมของบรรดาผู้ลงทุนสถาบัน องค์กรธุรกิจ และนักวิชาชีพ ที่เน้นการลงทุนที่ยั่งยืน มีความรับผิดชอบ และมุ่งผลกระทบ ในประเทศต่างๆ ได้แก่ Eurosif (ยุโรป), JSIF (ญี่ปุ่น), RIAA (ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์), RIA Canada (แคนาดา), UKSIF (สหราชอาณาจักร), USSIF (สหรัฐอเมริกา) และ VBDO (เนเธอร์แลนด์) ระบุว่า ตัวเลขการลงทุนที่ยั่งยืนทั่วโลก มีเม็ดเงินเพิ่มขึ้นจาก 22.89 ล้านล้านเหรียญ ในปี พ.ศ.2559 มาอยู่ที่ 30.68 ล้านล้านเหรียญ ในปี พ.ศ.2561 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 34 ในช่วงเวลา 2 ปี

โดยการลงทุนในหมวดนี้ คิดเป็นร้อยละ 33 ของขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ทั้งหมด หรือเทียบอย่างง่าย คือ ในจำนวนเงินลงทุน 3 เหรียญ จะมีอยู่ราว 1 เหรียญ ที่เป็นการลงทุนที่ยั่งยืน แสดงให้เห็นถึงสัญญาณของเรื่องการลงทุนที่ยั่งยืนว่าได้เข้าสู่โหมดการลงทุนกระแสหลัก (Mainstream) โดยกลุ่มผู้ลงทุนรายใหญ่ประเภทสถาบัน อย่างมีนัยสำคัญ

เฉพาะตัวเลขการเติบโตของกลยุทธ์การลงทุนที่ใช้ข้อมูล ESG (Environmental, Social and Governance) ผนวกในการวิเคราะห์ ในปี พ.ศ.2561 มีเม็ดเงินสูงถึง 17.54 ล้านล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 69 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2559

แลร์รี่ ฟิงก์ ซีอีโอ แบล็กร็อก บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนใหญ่อันดับหนึ่งของโลก กล่าวไว้ว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า ผู้ลงทุนทุกราย จะประเมินมูลค่าบริษัท ด้วยการวัดผลกระทบของกิจการในเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)

การใช้ปัจจัย ESG ในการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจลงทุน ร่วมกับการพิจารณา Risk-Return Profile ในแบบทั่วไป นอกจากจะทำให้ผู้ลงทุนสามารถคาดการณ์ผลประกอบการในอนาคตของบริษัทได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุนเอง ในแง่ที่จะช่วยสร้างผลตอบแทน (Alpha) ที่เพิ่มขึ้น และช่วยลดความผันผวนของราคา (Beta) ของหลักทรัพย์ในพอร์ตการลงทุนแล้ว ยังทำให้การลงทุนนั้น ช่วยเสริมสร้างผลกระทบเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก (Real World Impact) ในทางที่ดีขึ้นด้วย


ในหลักการลงทุนที่รับผิดชอบ (Principle for Responsible Investment: PRI) ที่พัฒนาขึ้น โดยหน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการเงิน ภายใต้สำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP Finance Initiative) และข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) ได้คาดการณ์ว่า กลยุทธ์การลงทุนในศตวรรษที่ 21 จะมีมิติเรื่อง Real World Impact เพิ่มเติมจากการพิจารณา Risk-Return Profile โดยผู้ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนจะต้องเผชิญกับคำถามเหล่านี้มากขึ้น

มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจ (Fiduciary Duty) ที่ไม่จำกัดเฉพาะการรักษาผลประโยชน์ทางการเงินแก่ผู้มีส่วนได้เสียหรือไม่
มีการกำหนดวัตถุประสงค์หลักที่จะสร้างผลกระทบเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกในทางที่ดีขึ้น ให้เป็นส่วนหนึ่งของผลการลงทุนที่ได้รับด้วยหรือไม่
มีการพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ว่าเป็นโอกาสและ/หรือความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญหรือไม่
มีการผนวกปัจจัยด้าน ESG ในการวิเคราะห์ตัดสินใจลงทุนหรือไม่
มีการสานสัมพันธ์ในเชิงรุกกับบริษัทที่เข้าลงทุนหรือไม่

ทั้งนี้ ผู้ลงทุนในกลุ่มดังกล่าว จะพิจารณาให้น้ำหนักความสำคัญต่อผลกระทบที่เปลี่ยนแปลงโลกไว้ในทางเลือกกลยุทธ์และในการตัดสินใจลงทุน โดยมีแรงขับดันมาจากผลประโยชน์ที่จะได้รับในระยะยาว และสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) 17 ข้อ ที่ประกาศใช้โดยองค์การสหประชาชาติ

เป็นที่คาดหมายว่า ผู้ลงทุนประเภทสถาบัน ในประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้าน ESG จะเพิ่มการพิจารณาผลกระทบเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก (Real World Impact) เป็นมุมมองของการลงทุนในมิติที่สาม เพิ่มเติมจากการพิจารณาคุณลักษณะความสัมพันธ์ด้านความเสี่ยงและผลตอบแทน (Risk-Return Profile) ในแบบทั่วไป นับจากนี้ไป


[Original Link]

No comments:

Post a Comment