Pages

Sunday, May 12, 2019

การวัดผลตอบแทนจากความยั่งยืน


ทุกองค์กรธุรกิจจะต้องมีความเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนไม่มากก็น้อย ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวว่าดำเนินการอยู่ก็ตามที

ถ้าเป็นกิจการที่ไม่ได้หวังมาฟันกำไร ประเภทตีหัวเข้าบ้าน แล้วปิดกิจการหนี แต่ต้องการอยู่ยาวๆ มีลูกค้าต่อเนื่อง อยากให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่ยอมรับ ตราสินค้าเป็นที่จดจำ ฯลฯ คุณลักษณะดังว่านี้ คือ การเข้าไปข้องเกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนเข้าแล้วนั่นเอง

ที่ผ่านมา แรงจูงใจหรือการโน้มน้าวเพื่อให้ดำเนินการเรื่องความยั่งยืน มักจะสื่อถึงผลลัพธ์ในระยะยาวที่กิจการจะได้รับ คือ ต้องทำไปก่อน ลงทุนไปก่อน ส่วนผลที่จะได้กลับมา ให้ไปคาดหวังเอาในวันข้างหน้า ทำให้คณะกรรมการบริษัทซึ่งมีระยะเวลาในตำแหน่ง มักไม่ค่อยอินกับเรื่องความยั่งยืน เพราะกว่าจะเห็นผล ตนเองก็พ้นวาระไปแล้ว

แต่ปัจจุบัน ได้มีความพยายามในการพัฒนาเครื่องมือสนับสนุนการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืน ให้มีขีดความสามารถในการแปลงการรับรู้ประโยชน์ (Recognized Benefit) ที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า เป็นการรับประโยชน์ (Realized Benefit) จากการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืน ให้เกิดขึ้นภายในรอบการดำเนินงานที่เป็นปัจจุบันมากขึ้น

ด้วยแนวคิดดังกล่าว จึงไปเพิ่มความน่าสนใจให้กับคณะกรรมการและผู้บริหารมืออาชีพที่ถูกจ้างเข้ามาดูแลกิจการ เพราะตนเองสามารถได้รับค่าตอบแทนที่ผูกอยู่กับผลงาน อันเกิดจากการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนได้อีกทางหนึ่งด้วย

การวัดผลตอบแทนจากความยั่งยืน หรือ Return on Sustainability ในที่นี้ มีฐานมาจากเครื่องมือที่เรียกว่า Value Driver Model ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยหน่วยงาน UN Global Compact และ UN-supported Principles for Responsible Investment (PRI) สำหรับสะท้อนคุณค่าแห่งความยั่งยืนสู่ตัววัดทางการเงินของกิจการ จากการดำเนินงานเรื่องความยั่งยืนใน 3 มิติ ได้แก่ การเติบโต (Growth) ผลิตภาพ (Productivity) และการจัดการความเสี่ยง (Risk Management)


มิติการเติบโต (Growth) ในรูปของรายได้ที่เกิดจากการใช้ประเด็นความยั่งยืนให้เป็นประโยชน์ หรือ Sustainability-Growth (S/G) มีองค์ประกอบที่ควรพิจารณาใน 4 ด้าน ได้แก่

การขยายส่วนแบ่งตลาด จากอุปสงค์ต่อตัวผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงความยั่งยืนเพิ่มขึ้น
การได้มาซึ่งยอดขายของลูกค้ากลุ่มใหม่หรือต่างภูมิภาค โดยอาศัยตราสินค้าและชื่อเสียงจากการเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงความยั่งยืน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่นำเรื่องความยั่งยืนมาใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างมีนวัตกรรม ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ลดผลเชิงลบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ไม่พึงปรารถนา และ/หรือ เพิ่มผลลัพธ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่พึงปรารถนา
การนำแผนและยุทธศาสตร์ระยะยาวไปปฏิบัติให้เกิดผล ในแนวทางที่ผู้ลงทุนต้องการ เกิดเป็นการเติบโตจากการนำเรื่องความยั่งยืนมาใช้ให้เป็นประโยชน์

มิติผลิตภาพ (Productivity) ที่เกิดจากการขับเคลื่อนด้วยประเด็นความยั่งยืน ผ่านทางตัวบ่งชี้การดำเนินงานหลักซึ่งกิจการใช้วัดผลลัพธ์ทางการเงิน หรือ Sustainability-Productivity (S/P) มีองค์ประกอบที่ควรพิจารณาใน 3 ด้าน ได้แก่

ประสิทธิภาพการดำเนินงาน ที่ก่อให้เกิดการประหยัดต้นทุน และ/หรือค่าใช้จ่ายที่หลีกเลี่ยงได้ จากการปรับปรุงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้ดีขึ้นจากเดิม การลดของเสีย และ/หรือการหาทางเลือกในการใช้วัสดุให้ดีขึ้น เพื่อต้นทุนและผลกระทบที่เกิดขึ้น
การบริหารทุนมนุษย์ ที่ก่อให้เกิดการลดค่าจ่ายในการเฟ้นหาและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถโดดเด่นให้กับกิจการ จากการมีข้อยึดมั่นต่อความยั่งยืนและคุณค่าอันเป็นที่รับรู้ในหมู่พนักงาน เช่นเดียวกับการเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน ด้วยการฝึกอบรมทั้งด้านทักษะและความปลอดภัย รวมถึงสภาพแวดล้อมการทำงานที่เท่าเทียมระหว่างหญิงและชาย
การปรับปรุงส่วนต่างระหว่างราคาขายกับต้นทุน ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งระดับราคาและปริมาณยอดขาย ในกลุ่มลูกค้าที่ให้น้ำหนักในเรื่องคุณค่าจากผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงความยั่งยืน

มิติการจัดการความเสี่ยง (Risk Management) ที่เกี่ยวเนื่องกับความยั่งยืน ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อผลประกอบการขององค์กรอย่างมีนัยสำคัญ หรือ Sustainability-Risk (S/R) มีปัจจัยความเสี่ยงที่ควรพิจารณาดำเนินการและติดตาม ประกอบด้วย

ความเสี่ยงด้านกฎระเบียบและการดำเนินงาน เป็นการจำกัดความเสี่ยงและความชะงักงันในธุรกิจ ที่อาจเกิดจากการระงับ/ยกเลิกใบอนุญาต หรือการเพิกถอนฉันทานุมัติจากสังคมหรือชุมชนที่อยู่รายรอบสถานประกอบการ (License to Operate) ด้วยการลดระดับการก่อผลกระทบที่ก่อวิกฤตทางสิ่งแวดล้อม และ/หรือการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัด การลดการปล่อยมลอากาศและสารพิษที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและระบบนิเวศ รวมถึงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการละเมิดกฎระเบียบ การลงโทษและบทปรับทางกฎหมาย ตลอดจนการเพิ่มระดับและการเข้าร่วมเป็นภาคีในการดำเนินงานตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน การผ่านการสอบทาน และการได้รับการรับรองที่เกี่ยวข้อง
ความเสี่ยงในสายอุปทาน เป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นด้วยการประเมิน การสอบทาน และ/หรือการได้รับการรับรองว่าผู้ส่งมอบ (Suppliers) มีความน่าเชื่อถือ มีผลิตภัณฑ์และบริการที่ผลิตและส่งมอบอย่างรับผิดชอบ ที่สอดคล้องกับนโยบายของกิจการ เป็นไปตามประมวลอุตสาหกรรม และมาตรฐานระหว่างประเทศ
ความเสี่ยงด้านชื่อเสียง เป็นการลดโอกาสเสี่ยงที่มีต่อชื่อเสียง ซึ่งมาจากบทปรับ คำตัดสินทางกฎหมายที่ไม่เป็นคุณ การคว่ำบาตร การประท้วงจากสาธารณชน และ/หรือการติดตามตรวจสอบจากสื่อมวลชน ด้วยการปฏิบัติตามนโยบายและวิธีดำเนินการอย่างเคร่งครัด เพื่อจำกัดความเสี่ยงภัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

องค์ประกอบหรือปัจจัยความยั่งยืนในมิติการเติบโต S/G มิติผลิตภาพ S/P และมิติการจัดการความเสี่ยง S/R เมื่อพิจารณาร่วมกัน จะสามารถคำนวณเพื่อหาผลตอบแทนจากความยั่งยืน หรือ Return on Sustainability ในรูปของตัวเลขและตัวบ่งชี้การดำเนินงาน ซึ่งกิจการใช้วัดผลลัพธ์ทางการเงินได้


[Original Link]

No comments:

Post a Comment