Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

กระแสหนุนหุ้นยั่งยืนเกิด กบข.นำขบวนงดลงทุนถ้าผิด

ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

นับวันการมุ่งสู่ความ “เก่งและดี” ของกิจการธุรกิจการค้าอุตสาหกรรม ไม่ใช่เป็นภาษาดอกไม้ที่พูดให้ดูดีอีกต่อไป เพราะกติกาโลกที่เริ่มเกิดกฎกติกา การเลือกคบค้า หรือเลือกลงทุนก็จะพิจารณาเรื่องคุณภาพ ประสิทธิภาพ และการมีธรรมาภิบาลเป็นพื้นฐาน

ความยั่งยืน” จึงเป็นเป้าหมายสำคัญขององค์กรที่ใฝ่ดี คิดถึงความก้าวหน้าในระยะยาว จึงสร้างความสมดุลทั้งผลประกอบการที่ดี พร้อมกับการดูแลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Enviromental) มีความรับผิดชอบต่อสังคมหรือผู้มีส่วนได้เสีย (Social) มีธรรมาภิบาล (Governance)

แนวทาง ESG ซึ่งมีองค์ประกอบความสมดุลใน 3 มิติดังกล่าวจึงเป็นเหตุปัจจัยไปสู่ความยั่งยืน ที่ป้องกันความเสี่ยงจากการผิดกฎหมายและป้องกันความเสี่ยงจากการถูกต่อต้าน จึงมีความยืนยาวเป็นองค์กร 100 ปีได้

การเคลื่อนไหวเมื่อเร็วๆ นี้ของ สถาบันไทยพัฒน์ โดยหน่วยงาน ESG Rating ซึ่งเป็นผู้พัฒนาข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจในประเทศไทยได้ ริเริ่มจัดทำและประกาศรายชื่อ100 หลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลเรียกว่า กลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 จึงมีความหมายสำคัญในการอ้างอิง

การประเมินโดยใช้ข้อมูลที่เกี่ยวกับ ESG จำนวนกว่า 14,278 จุดข้อมูล จาก 6 แหล่ง ประกอบด้วย

1. ข้อมูลในหัวข้อความรับผิดชอบต่อสังคมในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
2. ข้อมูลการประเมินการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียน (ESG Rating) บริษัท อีเอสจี เรตติ้ง จำกัด
3. ข้อมูลโครงการประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืน สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย
4. ข้อมูลผลสำรวจการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียน (CG Scoring) สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)
5. ข้อมูลโครงการประเมินระดับการพัฒนาความยั่งยืนของกิจการ (CSR Progress Indicator และ Anticorruption Indicator) สถาบันไทยพัฒน์
6. ข้อมูลการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและสื่อ (Media and Stakeholder Analysis : MSA) บริษัท อิมเมจ พลัส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด)

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า “การประเมินในปีนี้สถาบันไทยพัฒน์ได้พิจารณา ข้อมูลทั้งการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (ESG) และผลประกอบการของบริษัทควบคู่ไปพร้อมกัน โดยในปีนี้เรายังได้ทำการประเมินกองอสังหาฯ - REITs -โครงสร้างพื้นฐาน โดยใช้เกณฑ์ ESG เป็นครั้งแรกเพื่อเพิ่มทางเลือกของการลงทุนที่มีความผันผวนต่ำ แต่สามารถให้ผลตอบแทนที่ไม่ด้อยกว่าการลงทุนในหุ้นทั่วไป”


สถาบันไทยพัฒน์ได้ศึกษาผลตอบแทนหลักทรัพย์ในกลุ่ม ESG100 เปรียบเทียบกับหุ้นในดัชนี SET ตั้งแต่มิถุนายน 2015ถึงมิถุนายน 2019 ปรากฏได้ว่าหุ้นในกลุ่ม ESG 100 ให้ผลตอบแทน 32.69% หรือ 7.42% ซึ่งให้ผลตอบแทนชนะตลาด ขณะที่หุ้นในดัชนี SET ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 26.09% หรือคิดเป็น 6.04% ส่วนหุ้นในดัชนี SET100 ให้ผลตอบแทนที่ 26.18% หรือ 6.13% หรือหุ้นในดัชนี SET50 ให้ผลตอบแทน 27.18% หรือ 6.28% ดูภาพรวม ผลตอบแทนปัจจุบันย้อนหลัง 5 ปี เส้นกราฟสีดำ (หุ้นกลุ่ม ESG100) จะอยู่เหนือเส้นกราฟสีฟ้าทั้งเส้นประและเส้นทึบ แสดงว่าเมื่อยามที่ตลาดหุ้นไปดี ผลตอบแทนหุ้นกลุ่ม ESG100 จะขึ้นสูงกว่า แต่เมื่อยามตลาดแย่ หุ้นกลุ่ม ESG100 (กราฟสีดำ) ก็ยังตกน้อยกว่า

หลักทรัพย์ที่ผ่านเกณฑ์เข้าไปในรายชื่อ ESG100 ประจำปี 2562 ได้แก่

1) กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (agro&food industry) จำนวน 11 หลักทรัพย์ ได้แก่ NER, TWPC, CPF, HTC, M, MINT, OSP, PB, TVO, TMILL และ XO
2) กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (consumer products) จำนวน 4 หลักทรัพย์ ได้แก่ SUC, S&J, TOG และ MOONG
3) กลุ่มธุรกิจการเงิน (financials) จำนวน 12 หลักทรัพย์ ได้แก่ BAY, KBANK, KKP, KTB, LHFG, SCB, TCAP, TISCO, TMB, KTC, THANI และ NSI
4) กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม (industrials) จำนวน 15 หลักทรัพย์ ได้แก่ AH, IRC, SAT, STANLY, TSC, SNC, BGC, TMD, IVL, VNT, LHK, SMIT, TMT, FPI และ MBAX
5) กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (property & construction) จำนวน 21 หลักทรัพย์ ได้แก่ SCC, DRT, SCP, CK, SEAFCO, CPN, LH, LPN, MBK, ORI, PSH, QH, SPALI, PPS, B-WORK, CPNCG, FTREIT, GVREIT, LHSC, POPF และ WHART
6) กลุ่มทรัพยากร (resources) จำนวน 10 หลักทรัพย์ ได้แก่ BAFS, BCPG, BGRIM, EGATIF, EGCO, GPSC, GULF, PTT, TTW และ TPCH
7) กลุ่มบริการ (services) จำนวน 21 หลักทรัพย์ ได้แก่ BJC, COM7, CPALL, HMPRO, MEGA, SPI, BCH, BDMS, BH, NTV, TKS, VGI, BWG, CENTEL, ERW, AOT, BEM, BTS, NYT, SPA และ WINNER
8) กลุ่มเทคโนโลยี (technology) จำนวน 6 หลักทรัพย์ ได้แก่ DELTA, ADVANC, INTUCH, JASIF, SIS และ SYNEX

ในจำนวนนี้มีหลักทรัพย์ที่ได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในกลุ่ม ESG100 ที่มาจากตลาดหลักทรัพย์อยู่ 9 หลักทรัพย์ได้แก่ FPI, MBAX, MOONG, PPS, TMILL, TPCH, SPA, WINNER, XO และเป็นกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 กอง ได้แก่

-กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGATIF)
-กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF)

มีกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (PF) และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) ที่ได้รับคัดเลือก จำนวน 7 กอง ได้แก่

-กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ CPN คอมเมอร์เชียล โกรท (CPNCG)
-กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ไพร์มออฟฟิศ (POPF)
-ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์บัวหลวง ออฟฟิศ (B-WORK)
-ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (FTREIT)
-ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์โกลเด้นเวนเจอร์ (GVREIT)
-ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ แอล เอช ช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์ (LHSC)
-ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดับบลิวเอชเอ พรีเมี่ยม โกรท (WHART)

ทั้งนี้ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) รวมกันของหลักทรัพย์ ESG100 มีมูลค่าราว 10.4ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ62.6 เมื่อเทียบกับมาร์เกตแคปรวมของตลาด (SET) ที่ 16.6ล้านล้านบาท

รายชื่อหลักทรัพย์ ESG100 ชุดใหม่นี้ มีการเปลี่ยนแปลงจากปีที่แล้วในสัดส่วนร้อยละ 27และจะถูกนำไปใช้ ทบทวนรายการหลักทรัพย์ที่ใช้ในการคำนวณดัชนีอีเอสจีไทยพัฒน์ หรือ Thaipat ESG Index ในเดือนกรกฎาคมนี้

ผู้ลงทุนที่สนใจข้อมูลหลักทรัพย์จดทะเบียนในกลุ่ม ESG100 สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.esgrating.com

ข้อคิด...

“การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน”.....
“ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต”...


ผมเชื่อว่าคนในสังคมน่าจะเคยได้รับรู้คำเตือนผู้ลงทุนจากก.ล.ต. ท้ายโฆษณาชักชวนให้ซื้อตราสารการลงทุนต่างๆ ส่วนจะเกิดความตระหนักหรือเชื่อฟังแค่ไหนก็คงได้รับบทเรียนสอนใจกันเอง

นั่นเป็นการกระตุ้นเตือนผู้ลงทุนรายย่อยให้รู้จักรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน แต่สำหรับนักลงทุนมืออาชีพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนสถาบัน ซึ่งเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่เขาจะติดตามข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ . เพื่อลดความเสี่ยง และดูความคุ้มค่ากับเงินลงทุนอยู่แล้ว

ขณะนี้ สถาบันต่างๆ ในวงการตลาดทุนก็มีการเคลื่อนไหวเป็นกระแสส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ดำเนินกิจการ ด้วยแนวทาง ESG ได้แก่ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ส่งเสริมและพัฒนาบทบาทคณะกรรมการบริษัทให้กำกับดูแลกิจการที่ดี (CG) และสร้างความตระหนักรู้การกำกับดูแลกิจการที่คำนึงถึง ESG

ขณะที่กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ซึ่งเป็นนักลงทุนสถาบันรายใหญ่ของประเทศได้ประสานความร่วมมือกับนักลงทุนรายใหญ่อื่นๆ เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนรวมและธุรกิจประกันชีวิต ร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์การลงทุนตามแนวทาง “Nagative List Guideline” เรื่องการลงทุนตามแนวทาง ESG ที่จะลงนามความร่วมมือในวันที่ 1 ตุลาคม ศกนี้

หมายความว่า ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป หากทางบริษัทหรือผู้บริหารที่ทำผิดกฎหมายหรือพ.ร.บ.หลักทรัพย์ทั้งการปั่นหุ้น การใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหุ้น ก็จะโดนแบล็กลิสต์ไม่ซื้อหุ้นเพิ่มในระยะ 3 เดือนหรือ 6 เดือน จนกว่าปัญหาของบริษัทเหล่านั้นถูกแก้ไขจึงจะกลับเข้าไปลงทุนตามเดิม

ดังนั้น นักลงทุนสถาบันที่ยึดหลัก ESG ก็จะอิสระในพิจารณาตามเกณฑ์เพื่อสนับสนุนบริษัทที่มีธรรมาภิบาล



[Original Link]