Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ทางเลือกนักลงทุน

ESG กับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน/รีทส์/อสังหาริมทรัพย์


นับจากที่ สถาบันไทยพัฒน์ โดยหน่วยงาน ESG Rating ได้ริเริ่มจัดทำและประกาศรายชื่อ 100 หลักทรัพย์ที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้าน สิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล (ESG) หรือที่เรียกว่ากลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 เป็นต้นมา

นับเป็นปีที่ห้าของการประเมิน ด้วยการคัดเลือกจาก 704 บริษัทจดทะเบียน (ไม่รวมหลักทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟู) และในปีนี้ ได้ทำการคัดเลือกกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) เป็นปีแรกด้วย


เนื่องจากการเติบโตในแง่ของ Supply คือ มีจำนวนกองทุนมากพอในระดับที่สามารถนำมาเป็นตัวเลือกของการลงทุนได้ และหลายกองทุนเริ่มให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูล ESG ของกองทุนให้แก่ผู้ลงทุน ยิ่งไปกว่านั้น ในแง่ของ Demand ตามสภาวะตลาดทุนปัจจุบัน ผู้ลงทุนต้องการทางเลือกของการลงทุนที่มีความผันผวนต่ำ และยังสามารถให้ผลตอบแทนที่ไม่ด้อยกว่าการลงทุนในตราสารทุน ประเภทหุ้น

ปัจจุบัน มีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่จดทะเบียนกับสำนักงาน ก.ล.ต. จำนวน 7 กองทุน มีมูลค่าตลาดรวม 358,103.89 ล้านบาท มีกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 60 กองทุน มีมูลค่าตลาดรวม 426,501.27 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 5 มิถุนายน 2562)

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน/รีทส์/อสังหาริมทรัพย์ ทั้ง 67 กองรวมกัน มีมูลค่าตลาดคิดเป็นร้อยละ 4.64 เมื่อเทียบกับมาร์เกตแคปรวมของตลาด (SET) ที่ 16.89 ล้านล้านบาท

การประเมิน ESG กับกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน/รีทส์/อสังหาริมทรัพย์ โดยหน่วยงาน ESG Rating ของสถาบันไทยพัฒน์ ในปีแรกนี้ ได้คัดเลือกกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเข้าอยู่ในกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 จำนวน 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGATIF) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF)

และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 7 กองทุน ได้แก่ กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ CPN คอมเมอร์เชียล โกรท (CPNCG) กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ไพร์มออฟฟิศ (POPF) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์บัวหลวง ออฟฟิศ (B-WORK) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (FTREIT) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์โกลเด้นเวนเจอร์ (GVREIT) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ แอล เอช ช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์ (LHSC) และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดับบลิวเอชเอ พรีเมี่ยม โกรท (WHART)

สำหรับเกณฑ์ในการประเมิน ESG กับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน/รีทส์/อสังหาริมทรัพย์ นอกจากการใช้ Screening Criteria และ Rating Criteria เหมือนกับการประเมินบริษัทจดทะเบียนแล้ว ยังใช้เกณฑ์พิจารณาที่อ้างอิงจาก GRI, SASB ในส่วนที่เป็นประเด็น ESG รายสาขา ได้แก่ การบริหารการใช้น้ำและพลังงาน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การดูแลฟื้นฟูที่ดินและทรัพย์สินในความครอบครอง ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ ผลกระทบต่อผู้ใช้และผู้เช่าทรัพย์สิน การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการรับรองด้านความยั่งยืนในโครงการจากหน่วยงานภายนอก

นอกจากนี้ ยังมีตัววัดที่อ้างอิงจาก GRESB ในส่วนที่เป็นการประเมินกองทุน 3 หมวด ได้แก่ นโยบายและความเป็นผู้นำ การเฝ้าติดตามและประเมินความเสี่ยง การสื่อสารและการสานสัมพันธ์ และในส่วนที่เป็นการประเมินทรัพย์สิน 8 หมวด ได้แก่ การจัดการ นโยบายและการเปิดเผยข้อมูล โอกาสและความเสี่ยง การนำไปปฏิบัติ ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมและการเฝ้าติดตาม การสานสัมพันธ์ผู้มีส่วนได้เสีย ผลการดำเนินงาน ประกาศนียบัตรและรางวัลที่ได้รับ

ทั้ง 9 กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน/รีทส์/อสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่ในกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 มีมูลค่าตลาดรวมกัน 193,640.61 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24.68 เมื่อเทียบกับมาร์เกตแคปรวมของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน/รีทส์/อสังหาริมทรัพย์ 784,605.16 ล้านบาท

น่าจะเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนโดยมีความผันผวนต่ำ ได้รับผลตอบแทนสม่ำเสมอในระดับที่น่าพอใจ นอกเหนือจากการลงทุนในหุ้น

แต่เหนือสิ่งอื่นใด การลงทุนในหน่วยลงทุนมิใช่การฝากเงิน และมีความเสี่ยงของการลงทุน ผู้ลงทุนควรลงทุนในกองทุนรวมที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การลงทุนของตน และผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


[Original Link]