หนังสือ 'รู้จักหุ้น ESG100: ประตูสู่การลงทุนที่ยั่งยืน' ปี 62
สถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดตั้งหน่วยงาน ESG Rating ขึ้นเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2557 เพื่อพัฒนาข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจ โดยได้เริ่มจัดทำข้อมูลหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) จำนวน 100 บริษัท หรือที่เรียกว่ากลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ในปี พ.ศ.2558 เป็นปีแรก ด้วยการคัดเลือกจากบริษัทจดทะเบียนจำนวน 567 บริษัท ซึ่งนับเป็นการจัดอันดับหลักทรัพย์ด้านการพัฒนาความยั่งยืนของธุรกิจเป็นครั้งแรกในประเทศไทย สำหรับรองรับความต้องการของผู้ลงทุนที่ให้น้ำหนักการลงทุนในบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และเพื่อตอบโจทย์การลงทุนที่ยั่งยืน (Sustainable Investment)
และในปี 2562 นี้ หน่วยงาน ESG Rating ของสถาบันไทยพัฒน์ ได้ดำเนินการจัดทำและประกาศรายชื่อ กลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ต่อเนื่องเป็นปีที่ห้า ด้วยการคัดเลือกจากบริษัทจดทะเบียนจำนวน 704 บริษัท และในปีนี้ ได้ทำการคัดเลือกกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) จาก 67 กอง เป็นปีแรก รวมทั้งสิ้น 771 หลักทรัพย์ ด้วยการประเมินโดยใช้ข้อมูลที่เกี่ยวกับ ESG จาก 6 แหล่ง จำนวนกว่า 14,278 จุดข้อมูล สำหรับเป็นยูนิเวิร์สการลงทุนให้แก่ผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งให้ความสำคัญกับการลงทุนที่สร้างผลตอบแทนทางการเงินที่น่าพอใจในระยะยาว พร้อมๆ กับการสร้างผลกระทบทางสังคมในเชิงบวก
จากข้อมูลการสำรวจ 2018 Global Sustainable Investment Review ของ Global Sustainable Investment Alliance (GSIA) ระบุว่า การเติบโตของกลยุทธ์การลงทุนที่ใช้ข้อมูล ESG ผนวกในการวิเคราะห์ (ESG Integration) มีเม็ดเงินสูงถึง 17.54 ล้านล้านเหรียญ ในปี พ.ศ.2561 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 69 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2559
สำหรับตัวเลขการลงทุนที่ยั่งยืนทั่วโลก มีเม็ดเงินเพิ่มขึ้นจาก 22.89 ล้านล้านเหรียญ ในปี พ.ศ.2559 มาอยู่ที่ 30.68 ล้านล้านเหรียญ ในปี พ.ศ.2561 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 34 ในช่วงเวลา 2 ปี โดยการลงทุนในหมวดนี้ คิดเป็นร้อยละ 33 ของขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ทั้งหมด หรือเทียบอย่างง่าย คือ ในจำนวนเงินลงทุน 3 เหรียญ จะมีอยู่ราว 1 เหรียญ ที่เป็นการลงทุนที่ยั่งยืน แสดงให้เห็นถึงสัญญาณของเรื่องการลงทุนที่ยั่งยืนว่าได้เข้าสู่โหมดการลงทุนกระแสหลัก (Mainstream) โดยกลุ่มผู้ลงทุนรายใหญ่ประเภทสถาบัน อย่างมีนัยสำคัญ
สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะองค์กรร่วมดำเนินงาน (Participating Organization) ในความริเริ่มสากลด้านการประเมินความยั่งยืน ของ Global Initiative for Sustainability Ratings (GISR) มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 ได้นำหลักการแนวทางในมาตรฐานการประเมินความยั่งยืนของ GISR มาใช้เป็นแนวทางการประเมินความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนไทย ทั้งในด้านกระบวนการและด้านเนื้อหา เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
หนังสือ “รู้จักหุ้น ESG100: ประตูสู่การลงทุนที่ยั่งยืน” ฉบับปี 2562 เล่มนี้ จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับให้ความรู้ต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG ที่เชื่อมโยงกับบทบาทของบริษัทที่มีต่อเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) และเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) ที่ผู้ลงทุนให้ความสนใจ รวมทั้งรูปแบบการลงทุนโดยใช้ข้อมูล ESG และตัวอย่างการลงทุนที่ยั่งยืนในประเทศไทย
ดาวน์โหลดหนังสือ: "รู้จักหุ้น ESG100: ประตูสู่การลงทุนที่ยั่งยืน" ฉบับปี 2562